จากการแถลงข่าว "เกาะติดสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เป็นปัญหา" ซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน หรือ โรคอื่นที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ โดย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคลมร้อน (Heat stroke) ช่วงเดือนมีนาคม -เมษายน 2567 ระบุว่า เพียง 2 เดือน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย เทียบปี 2566 ช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 4 เดือนเสียชีวิต 37 ราย ปีนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า
สำหรับโรคฮีทสโตรก เกิดจากภาวะร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กวัยทารกถึงอนุบาลเนื่องจากระบบระบายอากาศในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน รวมถึงอาชีพเสี่ยงทั้งในกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง ทหาร ตำรวจ และ รปภ. เป็นต้น
ทั้งนี้ นพ.วีรวัฒน์ แนะนำว่า ควรลดกิจกรรมช่วงเวลา 11.00 น.ไปจนถึง 15.00 น. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าต้องออกไปข้างนอก ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง 1-2 ชั่วโมงดื่ม 2-4 แก้ว เสียเหงื่อมากดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้น บางคนไปดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟมีคาเฟอีน การระบายความร้อนลดน้อยลง ให้หลีกเลี่ยงช่วงอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าระบายความร้อน ระบายอากาศได้ดีมีสีอ่อน
อย่างไรก็ดี สามารถสังเกตอาการได้ หากหน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วใจสั่นหน้าแดง เหงื่อไม่ค่อยออก เป็นอาการเตือนความเสี่ยงฮีทสโตรก ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น รีบพาเข้าพักในที่อุณหภูมิเย็น อากาศถ่ายเท ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งปะคบตามซอกพับ หน้าผาก คลายเสื้อผ้า ดื่มน้ำถ้ายังมีสติ น้ำเย็น ถ้าไม่มีน้ำธรรมดาเพื่อระบายความร้อน ถ้าหมดสติให้รีบส่งโรงพยาบาลทันที