29 เมษายน 2567 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ระหว่างวันที่ 13 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ในกลุ่มวัยทำงาน โดยกองสุขศึกษา กรม สบส. ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ผู้ตอบแบบเฝ้าระวังฯ จำนวน 16,517 ราย เป็นประชากรภาคอีสาน 58.50 % ภาคเหนือ 19.17 % ภาคกลาง 17.42% กรุงเทพมหานคร 3.49 % และภาคใต้ 1.40 % ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร 48.45 % มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ดิบ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์น้ำจืด และสัตว์ทะเล 65.77 %
พื้นที่ที่มีความชุกของพฤติกรรมการกินอาหารปรุงไม่สุกมากที่สุด คือ ภาคอีสาน 77.14 % รองลงมา คือ ภาคเหนือ 67.32% โดย 5 เมนูยอดฮิตพบว่า นิยมกินมากที่สุด ได้แก่ ส้มตำใส่ปลาร้าดิบ 45.47 % รองลงมา ปลาร้าบองดิบ 35.10% ก้อยกุ้งฝอยดิบ 34.76 % แหนมหมูดิบ 31.73 % และลาบก้อยวัวดิบ 28.70 %
อีกทั้งคนที่มีความเชื่อว่า เนื้อดิบอร่อยกว่าเนื้อสุกจะมีโอกาสกินเนื้อดิบเป็น 4.21 เท่าของคนที่ไม่เชื่อในรสชาติดังกล่าว และการที่เคยเห็นคนดัง คนมีชื่อเสียงกินเนื้อดิบผ่านสื่อต่าง ๆ จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยมีโอกาสที่จะกิน
เนื้อดิบตามเป็น 1.34 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยเห็น
ซึ่งกรม สบส.จะมอบหมายให้กองสุขศึกษาดำเนินการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) แก่ประชาชนในระดับบุคคล ให้เกิดความเข้าถึง เข้าใจในข้อมูลสุขภาพ สามารถนำข้อมูลไปใช้ดูแลและรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงตามช่วงวัยต่างๆ ทำให้สามารถประกอบกิจกรรมและการงานได้อย่างเข้มแข็ง
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า นอกจากประเด็นในด้านความเชื่อข้างต้นแล้วจากผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมฯ ยังพบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกินอาหารปรุงไม่สุกของประชาชน อาทิ หากมีคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวที่กินเนื้อสัตว์ดิบ จะมีโอกาสกินมากกว่าผู้ที่ไม่มีคนใกล้ชิดกิน ถึง 4.18 เท่า
รวมถึงความเชื่อว่า การบีบน้ำมะนาวและขยำกับเนื้อสัตว์จนซีดจะทำให้สุกได้ และการกินยาถ่ายพยาธิทุกปี จะทำให้ปลอดภัยจากโรคพยาธิได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจและยังมีความเชื่อในเรื่องการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง เพราะการกินอาหารปรุงไม่สุกก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ หรือโรคหูดับ ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้น เพื่ออนามัยที่ดีลดเสี่ยงปัญหาสุขภาพ กรม สบส. ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติ 10 ประการ ในข้อ 3 คือการล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งให้สะอาดก่อนและหลังปรุงอาหาร และกินอาหาร และข้อ 4 กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตราย ควรกินอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส และมากกว่า 2 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค และใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน