สูญ 3 หมื่นล้าน สหภาพแรงงานยาสูบฯ บ่นอุบรายได้หดเซ่น “บุหรี่เถื่อน”

09 ก.ค. 2567 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2567 | 10:02 น.

สหภาพแรงงานฯ ยาสูบ เผยคนไทยสูบบุหรี่เถื่อนทะลุ 25.5% ทำรัฐสูญรายได้ 3 หมื่นล้าน กำไรลดเหลือเพียง200 ล้านบาท วอนคลังเร่งแก้ปัญหา ต้องใส่เงินสรรพสามิตมากขึ้น

นายสุเทพ ทิมศิลป์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ “รวมพลังปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย: เศรษฐกิจมั่นคง สังคมปลอดภัย” จัดโดยสมาคมการค้ายาสูบไทย ภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย  พบว่า

ผลการสำรวจการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2567 โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ระบุว่าประเทศไทยมีสัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายถึง 25.5% หรือ 1 ใน 4 ของตลาด สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจมา คิดเป็นบุหรี่เถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามากว่า 97% และบุหรี่ปลอม 3% สร้างความเสียหายทางภาษีให้รัฐกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

สูญ 3 หมื่นล้าน สหภาพแรงงานยาสูบฯ บ่นอุบรายได้หดเซ่น “บุหรี่เถื่อน”

ทั้งนี้พบว่า จังหวัดที่มีการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงสุดอยู่ในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา, สตูล, พัทลุง, ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะสงขลาที่มีความนิยมบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายกว่า 90% นอกจากนี้ยังเกิดปรากฏการณ์ “เมืองหลวงใหม่” แสดงการกระจายตัวของบุหรี่ผิดกฎหมายในจังหวัดระนอง, นนทบุรี, สมุทรปราการ, กรุงเทพมหานคร และ ปทุมธานี

สำหรับกรุงเทพฯ การสำรวจพบว่ามีสัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายอยู่ที่ 36.5% เพิ่มมาถึง 73 เท่า ภายใน 3 ปี สถิตินี้สะท้อนว่า จังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง และโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว เป็นกลุ่มเป้าหมายของการค้าบุหรี่เถื่อน เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการซื้อสินค้าเถื่อนออนไลน์ ส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย ๆ ผ่านการจัดส่งแบบด่วนถึงมือผู้รับในเวลาอันสั้น

“หากมองแค่บุหรี่ถูกกฎหมายของการยาสูบฯ ต้องยอมรับว่าผู้สูบบุหรี่ในไทยนิยมบริโภคบุหรี่ราคาประหยัด โดยการยาสูบฯ เองก็ขายสินค้าในกลุ่มนี้ได้กว่า 95% มีเพียง 5% เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มราคาสูง เพราะกำลังซื้อมีไม่มากนัก เมื่อราคาของของถูกกฎหมายปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และยังคงใช้โครงสร้างภาษีแบบ 2 อัตราและเก็บทั้งแบบปริมาณ คือ บุหรี่มวนละ 1.20 บาท และแบบราคาที่มีมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ดิ่งลงเหวของทั้งอุตสาหกรรม

สูญ 3 หมื่นล้าน สหภาพแรงงานยาสูบฯ บ่นอุบรายได้หดเซ่น “บุหรี่เถื่อน”

ก็ไม่แปลกที่ผู้บริโภคจะเทไปหาบุหรี่เถื่อนที่ทั้งราคาถูกและหาซื้อง่าย แต่รัฐบาลไทยจะยอมอยู่เฉย ๆ ให้บุหรี่เถื่อนช่วงชิงตลาดไปแบบนี้หรือ จากปี 64 ที่ขึ้นภาษี แค่ 3 ปี เราเสียตลาดไปแล้ว 1 ใน 4 บุหรี่เถื่อนโต 311% ถ้าไม่แก้ไขอะไรอีกไม่กี่ปีเราคงไม่เหลือพื้นที่ให้บุหรี่ถูกกฎหมายเลยในประเทศไทย”

อย่างไรก็ดี บุหรี่เป็นสินค้าที่เคยสร้างรายได้ให้กับภาษีสรรพสามิตกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียงราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ในบุหรี่ 1 ซอง ยังจัดสรรเงินเป็นภาษีมหาดไทยเพื่อบำรุงท้องถิ่น และภาษีอื่น ๆ เช่น กองทุนกีฬา สื่อ และคนพิการ ซึ่งเสียหายจากบุหรี่เถื่อนราว 6,000 ล้านบาทต่อปี

สูญ 3 หมื่นล้าน สหภาพแรงงานยาสูบฯ บ่นอุบรายได้หดเซ่น “บุหรี่เถื่อน”

ที่เลี่ยงไม่ได้เลยคือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกว่า 20,000 ครอบครัวที่จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาทุกอย่างในอุตสาหกรรมยาสูบ และร้านค้าบุหรี่ถูกกฎหมายกว่า 500,000 ร้านทั่วไทย ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาและความสะดวกสบายในการซื้อขายกับบุหรี่เถื่อนได้ ที่สำคัญภาครัฐน่าจะให้การสนับสนุนกรมสรรพสามิตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะต้องดูแลปัญหาบุหรี่เถื่อนที่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก