ชี้เทรนด์ “สุขภาพ-ความงาม” โต “วินเนอร์กรุ๊ป” จ่อปิดดีล OEM เพิ่ม

10 ส.ค. 2567 | 06:41 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 06:54 น.

“วินเนอร์กรุ๊ป” ชี้ตลาดสุขภาพและความงามยังเติบโต เผยครึ่งปีหลังจ่อปิดดีลกลุ่ม OEM เพิ่มทั้งกลุ่มสินค้าสกินแคร์ เมคอัพ และอาหารเสริมอีก 20 ราย พร้อมเดินหน้าปั้นเฮ้าส์แบรนด์ต่อเนื่อง มั่นใจสิ้นปียังโต 10-15% ดันรายได้ทะลุ 2,250 ล้านบาท

นางสาวกนกพรรณ เกรียงไกรกฤษฎาประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วินเนอร์กรุ๊ป เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารมานานกว่า 40 ปี ในปี 2561 บริษัทแตกไลน์ธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัท เอสเธติค ซีเครท (แอท-ซี) จำกัดซึ่งเป็นผู้ให้บริการรับผลิตสินค้าสุขภาพและความงาม ทั้งเครื่องสำอาง เวชสำอาง อาหารเสริมรวมทั้งสมุนไพร พร้อมดำเนินธุรกิจ OEM หรือรับจ้างผลิตสินค้า และสร้างเฮ้าส์แบรนด์ควบคู่กันไปด้วย

ชี้เทรนด์ “สุขภาพ-ความงาม” โต “วินเนอร์กรุ๊ป” จ่อปิดดีล OEM เพิ่ม

“เอสเธติค ซีเครทฯ ยังคงเป็นน้องใหม่ในตลาด แต่ทำ OEM แบรนด์ให้กับลูกค้า 10-20 ราย ส่งขายตามร้านสะดวกซื้อ และมีแบรนด์ OEM ส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศที่สนใจมาจ้างผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับความงามในประเทศไทยมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพและระบบการทำงานของผู้ประกอบการในประเทศไทย ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจะเติบโตไปได้ดี”

ปัจจุบันสินค้าของวินเนอร์กรุ๊ป มีสัดส่วนการขายหน้าร้านประมาณ 98% ขายออนไลน์น้อยกว่า 2% ลูกค้าเป็นคนไทยเกือบ 100% ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรงงานบะหมี่ โรงงานขนมขบเคี้ยว โรงงานผลิตผลไม้ โรงงานผลิตไส้กรอก ลูกชิ้น ไอศครีม ตลอดจนโรงงานอาหารกระป๋อง ประมาณ 500 ราย ส่วนกลุ่มธุรกิจ HORECA มีอยู่ประมาณ 1,000 ราย ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตอีกประมาณ 2,000 ราย โดยกลยุทธ์จะพยายามทำโปรโมชั่นเพิ่มขึ้น ควบคุมต้นทุน บริหารซัพพลายเชน ให้ดี ทั้งเจรจากับซับพลายเออร์ในต่างประเทศสำหรับนำเข้าสินค้าโดยใช้การต่อรองด้านจำนวนเข้ามาช่วย แม้จะยากแต่เน้นจำนวนมากขึ้น อาจจะได้กำไรน้อยลงแต่ก็ขับเคลื่อนธุรกิจไปได้ และทำการตลาดให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์จากบริษัทโดยตรงจากโรงงาน

ชี้เทรนด์ “สุขภาพ-ความงาม” โต “วินเนอร์กรุ๊ป” จ่อปิดดีล OEM เพิ่ม อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่อยู่ในทิศทางที่ดี และไม่สามารถเติบโตไปได้ตามที่คาดหวังหรือตั้งเป้าเอาไว้ เพราะผู้ประกอบการค่อนข้าง ลำบาก ต้องผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคจริงๆ ทั้งยังต้องทำการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดจึงจะขายได้ เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย และต้องผลิตสินค้าให้ตรงตามกำลังซื้อ ที่จำกัดของผู้บริโภคด้วย

นางสาวกนกพรรณ กล่าวอีกว่า คาดว่าครึ่งปีหลังของปี 2567 จะมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาทำ OEM เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ติดต่อพูดคุยกันเบื้องต้นแล้วประมาณ 20 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ากลุ่มสกินแคร์เป็นหลัก 60% ถัดมาคือเมคอัพ 20% และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 20% โดยจะพยายามเจาะกลุ่มองค์กรหรือกลุ่ม Corporate Account ที่ค่อนข้างมีความมั่นคงและยั่งยืน

ชี้เทรนด์ “สุขภาพ-ความงาม” โต “วินเนอร์กรุ๊ป” จ่อปิดดีล OEM เพิ่ม

“สถานการณ์ในขณะนี้ต้องเผชิญทั้งสงคราม ความแห้งแล้งกำลังซื้อหดตัว ปัจจัยภายนอกที่เป็นเศรษฐกิจมหภาค ต่างไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ แต่โชคดีที่ธุรกิจหลักของวินเนอร์กรุ๊ปมีจุดแข็งที่อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีความมั่นคง โปร่งใส ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ในส่วนที่เป็นการผลิตอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ และมีปัจจัยอย่างที่ 5 คือธุรกิจสุขภาพและความงามเข้ามาเสริมและยังโชคดีที่กลุ่มผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้าและมีกำลังซื้ออยู่ แม้จะต้องลงทุนด้านการตลาดเพิ่มเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายช่องทาง เพื่อชิงพื้นที่ตลาดไว้ โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขาย 2,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10-15% จากปีก่อนที่มียอดขาย 2,050 ล้านบาท”