กรมการแพทย์ส่งเวชภัณฑ์ช่วยป้องกันโรคผิวหนังจากน้ำท่วม

31 ส.ค. 2567 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2567 | 09:42 น.

กรมการแพทย์ แนะนำประชาชนป้องกันโรคผิวหนัง ที่มากับน้ำท่วม ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พร้อมมอบเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนัง

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์และผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบน ช่วงเดือนสิงหาคม ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น  มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และมักเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาด้วยเสมอ

กรมการแพทย์ส่งเวชภัณฑ์ช่วยป้องกันโรคผิวหนังจากน้ำท่วม

อย่างไรก็ตามโรคผิวหนังยังเป็นโรคลำดับต้นๆของปัญหาทางกายที่เกิดกับผู้ประสบภัย กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง  ห่วงใยต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้สนับสนุนเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนัง เพื่อกระจายให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้รับการช่วยเหลือได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงที โดยมอบให้กับ

สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 2,400 ชุด

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย จำนวน 800 ชุด

โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย จำนวน  1,200 ชุด 

โรงพยาบาลขุนตาล จังหวัดเชียงราย จำนวน  400 ชุด

โรงพยาบาลเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จำนวน  400 ชุด

โรงพยาบาลพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จำนวน  400 ชุด รวมจำนวนทั้งสิ้น  5,200 ชุด

นายแพทย์วีรวัต  กล่าวเพิ่มเติมว่า  นอกจากเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนังในผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ประชาชนควรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ ที่จะตามมาได้ ซึ่งโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยและประชาชนในพื้นที่อุทกภัยหรือมีน้ำท่วมขังไม่ควรละเลย คือ โรคน้ำกัดเท้า 

กรมการแพทย์ส่งเวชภัณฑ์ช่วยป้องกันโรคผิวหนังจากน้ำท่วม

ซึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าสิ่งที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ   ถ้าเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูท และเมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาด  เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอและควรทาครีมบำรุงผิว  ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน  ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์ หากมีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว     มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนองเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้นควรพบแพทย์ 

ในกรณีที่เท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่องหรือนิ้วเท้าเกย หรือชิดกันมากทำให้อาจติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาวได้  ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา  ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค  เช่น   เบตาดีน ควรระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจเกิดบาดแผลซึ่งจะเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ การทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้าทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยสบู่และน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคผิวหนังดังกล่าวได้