สมศักดิ์ ถกบอร์ด สปสช. เคาะเพดานจ่ายผู้ป่วยใน 8,350 บาทต่อหน่วย

23 ก.ย. 2567 | 10:00 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 10:03 น.

สมศักดิ์ นั่งหัวโต๊ะ ถกบอร์ด สปสช. วาระพิเศษอนุมัติงบกองทุนบัตรทอง พร้อมให้ความเห็นชอบหากงบคงเหลือให้เพิ่มเติมค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ AdjRW มอบ สปสช. ดำเนินการได้ทันที พร้อมรับข้อสังเกต สภาพัฒน์ หวั่นเกิดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ

23 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 (3) 2567 วาระพิเศษ การปิดงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 และการใช้งบกลางคงเหลือ

ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5,924.31 ล้านบาทเพื่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำรวมกับงบรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมของปีงบประมาณ 2566 และรายรับอื่นระหว่างปีรอปิดบัญชีปี 2567 ที่ไม่มีภาระผูกพัน

ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบให้นำมาจ่ายชดเชยสำหรับค่าบริการ เรียงตามรายการ ดังนี้ ค่าบริการตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่, ค่าบริการกรณีที่จำเป็นในการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการอื่นนอกเครือข่ายกรณีเหตุสมควร, กรณีรายการค่าบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอ และในกรณีที่มีงบประมาณคงเหลือให้นำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมกับค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ AdjRW

ทั้งนี้ หากยังมีงบประมาณคงเหลือก็ให้ยกยอดไปในปีถัดไป ยกเว้นในส่วนของงบกลางฯ ให้เบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 ในส่วนงบปกติปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ปิดงบประมาณจากข้อมูลการเบิกจ่ายที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 กันยายน 2567 สำหรับข้อมูลการส่งเบิกจ่ายหลังวันที่ 15 กันยายน 2567 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป

ส่วนค่าบริการผู้ป่วยนอกพื้นที่ กทม. ให้กันเงินไว้ภายใต้วงเงิน Capitation ตามประชากรที่ลงทะเบียน ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ไว้จ่ายค่าใช้จ่ายค่าบริการที่ค้างจ่ายของปีงบประมาณ 2567

นอกจากนี้ได้เห็นชอบให้ปิดงบประมาณรายจ่ายจากข้อมูลที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 กันยายนของทุกปีเพื่อให้การดำเนินการโอนเงินให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพและเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี

ส่วนข้อมูลเบิกจ่ายหลังวันที่ 15 กันยายนให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไปและนำงบประมาณคงเหลือจากการเบิกจ่ายให้นำไปรวมกับงบประมาณในปีถัดไปด้วย     

พร้อมกันนี้ บอร์ดสปสช. ให้ สปสช. รับข้อสังเกตของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่อาจเกิดความซ้ำซ้อนของการสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ กรณีที่ผู้มีสิทธิไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการสาธารณสุขพื้นฐานใกล้บ้าน ขณะที่หน่วยบริการเดิมที่ได้ลงทะเบียนไว้ไม่ต้องจัดบริการแก่ผู้มีสิทธิรายนั้นแต่ยังได้รับงบประมาณในการดำเนินงานตามค่าเหมาจ่ายรายหัว

ดังนั้น จึงควรพิจารณาหาแนวทาง ในการจัดสรรงบประงบประมาณรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการจัดบริการร่วมกันระหว่างหน่วยบริการที่ประชาชนได้ลงทะเบียน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการอื่นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานในระยะต่อไป

สภาพัฒน์ มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้โดยเน้นย้ำไปที่เรื่องของผู้ป่วยนอก หรือ กรณีการส่งตัวที่ย้ายไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ขึ้นมีการจ่ายซ้ำซ้อนที่อาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ซึ่งจะเกิดปัญหาที่ตามมาได้

สำหรับการจัดสรรงบประมาณบัตรทองในปีถัดไปนั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า ถ้าไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยหรือไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ แน่นอนว่า ต้องใช้งบส่วนนี้จำนวนมาก และต้องเหนื่อยกับการมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ นายสมศักดิ์ รมว.สาธารณสุข ระบุ 

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันนี้ท่าน รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้มีการจัดขึ้นเป็นวาระพิเศษเพื่อเร่งแก้ปัญหางบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องด้วยบริการในปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการปรากฏว่า ได้มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวนมาก ทำให้มีผลงานบริการมากกว่างบประมาณที่จัดสรรไว้ จึงจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมในการปิดงบประมาณรายจ่าย

รวมถึงการขอเพิ่มเติมจากงบกลางฯ ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ สปสช. จะเร่งดำเนินการโอนค่าบริการให้กับหน่วยบริการโดยเร็ว โดยมติที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้ให้ สปสช. ดำเนินการโดยทันที ซึ่งทาง สปสช. จะมีการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกี่ยวกับการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ให้สอดคล้องกันต่อไป