8 พฤศจิกายน 2567 นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี แต่ปัจจุบัน พบว่า ประชาชนยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย
ข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก คือ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ เป็นการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในระดับบุคคล ในการธำรงรักษาสุขภาพตนเองอย่างยั่งยืนมีการชี้นำระบบสุขภาพที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพของตนเองร่วมกับผู้ให้บริการ และสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้
ประกอบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กำหนดให้การเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลง 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น ความรอบรู้ด้านสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์
ด้านนายแพทย์สุทัศน์ ไชยยศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 74 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนทั่วโลก
ปัจจัยที่ส่งผลให้ป่วยด้วยโรค NCDs ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ทั้งด้านการบริโภคอาหารที่ไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ ไม่ออกกำลังกาย มีภาวะเนือยนิ่งนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
ข้อมูลสถานการณ์สุขภาพประชากรวัยทำงานอายุ 19-59 ปี มีรอบเอวและค่าดัชนีมวลกายปกติ เพียงร้อยละ 50.9 จากการศึกษาสถานการณ์ความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพในปี 2567 พบว่า ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพในระดับไม่ดีพอ เช่น การออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ สุรา และสูบบุหรี่ พบว่า คนไทยมีความรอบรู้ในระดับดีมากเพียงร้อยละ 1.6
เมื่อพิจารณาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของประชาชนวัยทำงาน พบว่า ประชาชนวัยทำงานบริโภคผัก 5 ทัพพี ตั้งแต่ 4 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ ร้อยละ 70.79 มีกิจกรรมทางกายมากกว่าหรือเท่ากับ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ร้อยละ 59.86 นอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ ร้อยละ 89.76 แปรงฟันก่อนนอนทุกวัน 2 ครั้ง นานอย่างน้อย 2 นาที ร้อยละ 73 และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ครบทั้ง 4 ด้าน เพียงร้อยละ 38.73
Campaign : ENDU Anamai ประกอบด้วย
เหล่านี้เป็นสิ่งที่กรมอนามัยต้องเร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ดีส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตนเอง ลดปัจจัยเสี่ยงก่อนเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยเน้นการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ มีความเข้าใจ สามารถประเมินและตัดสินใจเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง และคนรอบข้างได้อย่างเหมาะสมโดยเริ่มเปิดตัวที่เขตสุขภาพที่ 6 เป็นแห่งแรก มีผู้เข้าร่วมงานทั้งเครือข่ายภาครัฐเอกชน กว่า 300 คน