ประเทศไทยเข้าสู่ลานีญาในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม 2568 ซึ่งคาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในช่วงปลายปี 2567 ถึงกลางปี 2568 จะไม่รุนแรงเท่ากับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากแนวโน้มฝนที่มากขึ้น พื้นที่มีความชุ่มชื้น สิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงติดไฟยากแต่ยังคงให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุมปรึกษาหารือการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2568 การคาดการณ์สถานการณ์ 7 วันล่วงหน้า
ภาพรวมประเทศคุณภาพอากาศมีแนวโน้มในระดับดีมาก-ปานกลาง ยกเว้นช่วงวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2567 จะมีแนวโน้ม PM2.5 เพิ่มขึ้นอยู่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากสภาพอากาศปิดและการเผาพื้นที่เกษตร
สำหรับวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มุ่งดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุก โดยการคง 4 มาตรการเดิม ยกระดับเป้าหมายและการปฏิบัติการ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 สร้างความรอบรู้และส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ
มาตรการที่ 2 ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
มาตรการที่ 3 จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
มาตรการที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ได้ให้ปรับแนวทางในการดำเนินงานภายใต้มาตรการต่างๆ ให้เข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น อาทิ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารสร้างความรอบรู้และแจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจให้มากยิ่งขึ้น เช่น ผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม และการนัดหมายออนไลน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาปรับระดับปฏิบัติการและเกณฑ์การเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ระดับประเทศ ประกอบด้วย
ระดับ 1 : น้อยกว่าหรือเท่ากับ 37.5 มคก./ลบ.ม.
ระดับ 2 : 37.6 - 75.0 มคก./ลบ.ม.
ระดับ 3 : 75.1-150 มคก./ลบ.ม.
ระดับ 4 : มากกว่า 150 มคก /ลบ.ม. ติดต่อกัน 5 วันขึ้นไป
ทั้งนี้ สำหรับ PHEOC ในระดับจังหวัดจะเปิดเมื่อ PM2.5 มากกว่าหรือเท่ากับ 75.1 มคก./ลบ.ม ติดต่อกัน 2 วัน