เริ่มแล้ว อย. จับมือ TikTok กวดขัน โฆษณาสุขภาพผิดกฎหมาย

15 พ.ย. 2567 | 11:06 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2567 | 11:58 น.

เริ่มแล้ว อย. จับมือ TikTok สร้างระบบตรวจสอบและระงับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

อย. จับมือ TikTok เสริมความเข้มแข็งในการจัดการโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายบนออนไลน์เชิงรุกผ่านระบบดิจิทัล เพื่อแจ้งระงับหรือปิดกั้นการโฆษณาผิดกฎหมาย เริ่มใช้อย่างเป็นทางการ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีภารกิจสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุอันตรายฯ และยาเสพติด 

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ

โดยควบคุม กำกับดูแลทั้งก่อนออกสู่ตลาดและหลังออกสู่ตลาด รวมถึง การโฆษณา ซึ่งปัจจุบันพบมีการโฆษณาผิดกฎหมายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมาก

จึงต้องอาศัยความร่วมมือของแพลตฟอร์มและผู้ขายร้านค้าออนไลน์ จึงได้ร่วมมือกับ แพลตฟอร์ม TikTok ในการจัดการโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายบนช่องทางออนไลน์

ซึ่งทางแพลตฟอร์มได้ให้ความร่วมมือในการวางแนวทางปฏิบัตเพื่อให้ อย. สามารถดำเนินการแจ้งระงับหรือปิดกั้นการโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายผ่านระบบดิจทัล 

เพื่อความรวดเร็วในการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก โดย อย. ได้นำร่องใช้งานระบบดังกล่าวกับทาง TikTok เพื่อใช้ช่องทางพิเศษในการควบคุมเนื้อหาที่ละเมิดกฏหมายผ่านระบบ TSET (TikTok Safety Enforcement Tool)

 

 

ซึ่งสามารถตรวจสอบความโปร่งใสผ่านรายงาน Government Removal Requests Report รวมไปถึงใช้เป็นช่องทางในการจัดส่งข้อมูลผู้ขายร้านค้าออนไลน์ที่กระทำผิดให้กับ อย. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 

และจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมายให้เหลือเพียง 7 วัน และสามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยจะเริ่มใช้งานระบบดังกล่าว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ

อย. พร้อมสนับสนุนทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ในการจัดทำระบบร่วมกัน เพื่อให้เกิดการโฆษณาและการขายสินค้าออนไลน์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ 

และในขณะเดียวกันต้องคุ้มครองให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย จากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่เกินจริง โอ้อวด หลอกลวง และทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นทำได้ตามที่อวดอ้างโฆษณา