นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets กล่าวว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นความท้าทายด้านสุขภาพที่สำคัญมากในประเทศไทย และมีโรคมะเร็งเป็นปัญหาหลัก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงเดินหน้าจับมือโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ต่อยอดความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดตั้งแต่ปี 2566 เพื่อให้ประชาชนภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง สามารถเข้าถึงการตรวจหาโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ภายใต้ความร่วมมือนี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้นำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัย มาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของการคัดกรองมะเร็งปอดอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลดำเนินการนำร่องในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอดและมะเร็งตับ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการทำงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ให้สามารถดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น
โดยปี 2567 ได้ขยายขอบเขตความร่วมมือสู่การวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยเฉพาะราย รวมถึงการสร้างเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยสนับสนุนการเข้าถึงการตรวจหายีนส์กลายพันธุ์ ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะแรกเริ่มเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต
นายแพทย์ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลศูนย์ของภาคตะวันออก พื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมผู้ป่วยในจังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว และ 3 อำเภอของจังหวัดระยอง อาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “มะเร็งรักษาหายได้ หากได้รับโอกาสในการรักษา” โดยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เข้ามารับการรักษาที่ศูนย์แห่งนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 คนต่อปี และพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่สูงถึง 200 คน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในระยะสุดท้าย จากความร่วมมือกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ประกอบการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในปี 2566 ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า และโรงพยาบาลในเครือข่าย ส่งผลให้พบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงขยายไปสู่โรคปอดอื่นๆ เช่น ถุงลมโป่งพอง หอบหืด วัณโรค และ โรคหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
สำหรับศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย การลงนามความร่วมมือนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผสานความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า เข้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้และการคัดกรองโรคในระยะเริ่มต้น การพัฒนาระบบการวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การรักษาที่แม่นยำเฉพาะบุคคลด้วยการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ไปจนถึงการวิจัยระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคมะเร็งปอดและมะเร็งตับ ที่พบมากในประชากรไทย
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ผ่านการอบรมและสัมมนาวิชาการ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และเพื่อให้โครงการนี้สามารถเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระดับประเทศต่อไปในอนาคต