"ศิริราช-มหิดล" จับมือเอกชน นำร่อง MSU-SOS รักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่

17 ธ.ค. 2567 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2567 | 05:57 น.

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จับมือ ม.มหิดล ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดโครงการ MSU-SOS รถรักษาพยาบาลเคลื่อน วินิจฉัยและรักษา "โรคหลอดเลือดสมอง" ก่อนผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล พร้อมเป็นต้นแบบของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอนาคต

รศ.นพ. ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถิติจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 3.4 แสนรายต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 10% และพิการประมาณ 60% นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ผู้นำด้านเทคโนโลยีภาพทางการแพทย์ และ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แห่งภูมิภาค วิจัยและพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ รุ่น “MSU-8” จัดทำโครงการ Mobile Stroke Unit, Stroke One Stop (MSU-SOS) รถรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) 

\"ศิริราช-มหิดล\" จับมือเอกชน นำร่อง MSU-SOS รักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่

รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ จะช่วยยกระดับการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย ให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง (A life without stroke) อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่แก่โรงพยาบาลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดโอกาสการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพราะปัจจัยสำคัญ คือ “ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดี” 

โดยระยะเวลาที่สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดเพียง 4 ชั่วโมงครึ่ง นับจากเริ่มมีอาการ ก่อนเสมองจะถูกทำลาย ซึ่งรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ประกอบด้วย รถพยาบาล เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner) และทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง สามารถสแกนศีรษะผู้ป่วยบนรถ ณ จุดนัดหมายที่กำหนด พร้อมเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) เพื่อให้ทีมแพทย์และบุคลากรที่โรงพยาบาลตัดสินใจด้านการรักษาและให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทัน

\"ศิริราช-มหิดล\" จับมือเอกชน นำร่อง MSU-SOS รักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่

“การวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ จะมีประสิทธิภาพและลดอัตราการพิการหรือเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น หากมีระบบการจัดการ Workflow ที่รวดเร็ว เทคโนโลยีภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging) ที่มีคุณภาพและแม่นยำ รวมถึงยานยนต์ และระบบปรึกษาทางไกล(Teleconsultation) ที่มีเสถียรภาพ"

รศ.ดร. พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสร้างระบบปรึกษาทางไกล (Teleconsultation) ให้มีเสถียรภาพ พร้อมรถพยาบาลที่มีคุณภาพและศักยภาพสูง ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความท้าทายและสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เพื่อให้การเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วย ผลการวินิจฉัย และการประเมินการรักษาล่วงหน้าระหว่างทีมปฏิบัติการ บนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่และทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น และรวดเร็วที่สุด

ด้าน นายคริส พอเรย์ กรรมการผู้จัดการ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส มีเป้าหมายบุกเบิกนวัตกรรมการดูแลสุขภาพเพื่อผู้คนทั่วโลก ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์กว่า 125 ปี ในการพัฒนาเทคโนโลยีภาพทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ ทั่วโลก wfhเล็งเห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน จึงได้ร่วมวิจัยและพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 

\"ศิริราช-มหิดล\" จับมือเอกชน นำร่อง MSU-SOS รักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่

พร้อมนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scanner) รุ่น SOMATOM On.site ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแบบเคลื่อนที่ มีเทคโนโลยีขั้นสูงและล้ำสมัย ให้ภาพถ่ายสมองที่มีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้ตามมาตรฐานเดียวกับการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาล เข้าไปติดตั้งในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่นล่าสุด MSU-8 เพื่อเพิ่มความสำเร็จให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินสามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำและมุ่งเน้นการรักษาอย่างตรงจุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล

“ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ให้มีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ตอบโจทย์ความเร่งด่วนของการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ยังเป็นโอกาสของผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายที่จะสามารถแบ่งปันความความรู้และทักษะ ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้งานจริงและความต้องการทางคลินิก นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น” 

\"ศิริราช-มหิดล\" จับมือเอกชน นำร่อง MSU-SOS รักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่

นายสแตนเลย์ ชาน ไว จง ผู้จัดการทั่วไป ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาทางด้านการออกแบบและผลิตรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8 บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการยานพาหนะ การผลิตยานยนต์ และการให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ได้มุ่งเน้นการออกแบบตัวรถและโครงสร้าง รองรับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดและน้ำหนักเพิ่มขึ้น

สามารถรองรับแรงที่กระทำกับตัวรถได้ นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง ด้วยการออกแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งในประเทศไทยและในระดับมาตรฐานสากล