ศึกหนัก “แหลมฉบัง” กับปัญหาท้าทายผอ.กทท.คนใหม่

01 พ.ย. 2564 | 01:00 น.

กทท.เปิดสรรหาผอ.คนใหม่ หลังคนปัจจุบันหมดวาระภายในเดือนพ.ย.นี้ เผย 4 ผู้ท้าชิงรับตำแหน่ง กับบทบาทท้าทาย “ท่าเรือแหลมฉบัง”

รายงาน:อนัญญา จั่นมาลี

 

 

การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. ภายใต้กระทรวงคมนาคมได้เปิดสรรหาตำแหน่ง ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เนื่องจาก เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.คนปัจจุบัน ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.กทท.เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะครบวาระสัญญาจ้างเนื่องจากอายุครบ 60 ปี ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

 

 สำหรับการสรรหาผู้อำนวยการกทท.ในครั้งนี้ กำหนดให้ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 กรกฎาคม 2564 โดยคณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาคุณสมบัติ และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ต่อไป ทั้งนี้ได้กำหนดคุณสมบัติทั่วไป ได้แก่ สัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัคร, ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต, ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก, ไม่เป็นข้าราชการการเมือง, ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุนหรือมีผลประโยชน์ได้เสียกับกิจการของ กทท.ฯลฯ

 

 

 

ส่วนคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ได้แก่ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารงานด้านระบบโลจิสติกส์ การท่าเรือ การขนส่ง การเดินเรือพาณิชย์ การเศรษฐกิจ หรือการเงิน, มีวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ มีภาวะผู้นำที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์สามารถติดต่อประสานงานกับองค์กรอื่นได้ดี ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

 

 

 

กรณีเคยเป็นผู้บริหารของภาคเอกชน ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดขององค์กร โดยองค์กรดังกล่าวจะต้องมีรายได้ (Turnover) ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยนำงบการเงิน โครงสร้างองค์กร และรายงานประจำปีในขณะดำรงตำแหน่งมาแสดง กรณีเคยเป็นข้าราชการ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดี หรือเทียบเท่า ฯลฯโดยทุกกรณีจะต้องเคยดำรงตำแหน่งนั้นไม่น้อยกว่า 1 ปี

 

 

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การสรรหาผู้อำนวยการการท่าเรือฯ เบื้องต้นกทท.ได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะรวบรวมคะแนนของผู้สมัครทุกรายเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการมีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการกทท. ทั้ง4 ราย พบว่า เรือโทชำนาญ  ไชยฤทธิ์  รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท. เป็นหนึ่งในผู้สมัคร ได้คะแนนนำในครั้งนี้ ส่วนผู้สมัครอีก 3 ราย ประกอบด้วย ร้อยตำรวจตรีมนตรี  ฤกษ์จำเนียร  ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กทท. 2.นายพีรกันต์  แก้ววงศ์วัฒนา อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดหรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 3.นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

 

 

หากการสรรหาผู้อำนวยการกทท.สิ้นสุดลงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้อำนวยการคนใหม่ที่จะต้องรับมือกับบิ๊กโปรเจคต์อย่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” ซึ่งเป็นแหล่งผลประโยชน์และรายได้หลัก ที่หล่อเลี้ยงบุคลากรในองค์กรเกือบทั้งหมด รวมทั้งการประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จ ขณะที่ท่าเทียบเรือ F  คณะกรรมการ (บอร์ดอีอีซี)ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

 

 


ขณะเดียวกันผู้นำเข้า-ส่งออกและผู้ประกอบการรถบรรทุกร้องเรียน ให้ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการพัฒนาระบบการจองคิว (Truck Queuing) ครบ 100% เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นบริเวณท่าเทียบเรือและสามารถบริหารการจัดการในท่าเทียบเรือได้มีประสิทธิภาพ ในกรณีที่มีการกระจายตัวของรถบรรทุกที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังมีการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง  
 

หากท่าเรือแหลมฉบังสามารถออกมาตรการบังคับให้มีการจองคิวผ่านระบบ Truck Queuing อย่างจริงจัง จะทำให้ปัญหาการจราจรลดลง โดยทุกภาคส่วนต้องหันมาปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้สอดคล้องกับตารางการเดินทางของเรือในช่วงปกติและล่าช้า (Delay) ซึ่งเป็นปัญหาที่ท่าเรือแหลมฉบังควบคุมไม่ได้ 

 

 

ขณะที่โครงการศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transer Operator หรือ SRTO) ที่เปิดให้บริการมากกว่า 3 ปี แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีการทำงานแบบบูรณาการอย่างจริงจัง รวมทั้งในปัจจุบันการประมูลโครงการฯถูกเลื่อนออกไปเป็นระยะๆ ทำให้ไม่สามารถหาผู้ประกอบการ SRTO เข้ามาทำงานในรูปแบบสัญญาระยะยาวได้ ส่งผลให้พื้นที่ก่อสร้างเพื่อใช้วางตู้สินค้ากลับไร้ประโยชน์ 

 

ไม่เพียงเท่านั้นฟากท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือ A ยังติดปัญหาไม่สามารถหาผู้ประกอบการทำสัญญาระยะยาวได้ ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น  โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชายฝั่งเลือกทำงานตามสัญญาระยะสั้น ทำให้แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว เนื่องจากส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับจากท่าเรือแหลมฉบังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

 

 

ทั้งนี้ในส่วนการขยายท่าเทียบเรือเคอรี่ ระยะที่ 4 โดยกรมเจ้าท่าอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างบริเวณใกล้เคียงท่าเรือแหลมฉบัง ขัดต่อกฎหมายนั้น ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นสัมปทานแก่เอกชนที่มาลงทุนอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

 

 


ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายผู้อำนวยการกทท.คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ว่าสามารถบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้อย่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” และโครงการอื่นๆได้จริงเหมือนที่เคยแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่