ความคืบหน้า “โครงการประกันรายได้ข้าว” ปี 3 และ “เงินช่วยเหลือชาวนาปีการผลิต 2564/65 แม้รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แต่ปีนี้อาจติดหล่มบ้าง จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และรัฐบาลต้องช่วยเหลือเยียวยาให้แทบทุกอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้ง แต่ล่าสุดรัฐบาลก็สามารถขยายเพดานการก่อหน้าเพิ่ม เพื่อนำเงินจัดสรรเงินช่วยเหลือเกษตรกรได้อีก 1.55 แสนล้านบาท ล่าสุดมีความคืบหน้าการจ่ายเงินตามลำดับ
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง ผลกระทบจากการคนตกงานนอกภาคเกษตร เป็นจำนวนมาก ทำให้หลายคนกลับไปยึดอาชีพทำการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะในโครงการที่รัฐบาลมีนโยบาย “ประกันรายได้เกษตรกร” ในส่วนของทั้ง 5 พืชได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
“ยกตัวอย่าง โครงการประกันรายได้ข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานในที่ประชุมผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ผลการขึ้นทะเบียนที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 4.53 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 61.2 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 26.5 ล้านตัน"
ทั้งนี้ ซึ่งข้อมูลเปรียบเทียบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และประมาณการวงเงินที่คณะอนุกรรมการฯ รับทราบ ณ วันที่ประชุมทุกวันศุกร์ เมื่อเปรียบเทียบการจ่ายเงิน งวด 1-5 จากสองปีก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าจำนวนพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 2.5 หมื่นไร่ ประมาณการวงเงินขอชดเชยเพิ่มขึ้น 34.34 ล้านบาท”
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ผลการจ่ายเงิน ณ วันที่ 17 พ .ย. 2564 โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว สำหรับงวดที่ 1-3 รวมทั้งสิ้นกว่า 6.31 ครัวเรือน วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 97.56% ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติ ยังคงเหลือวงเงิน 316.14 ล้านบาท และกันสำรองจ่าย งวด 1-3 ที่เหลือกว่า 240 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)
“หาก ครม. อนุมัติเงิน 1.55 แสนล้านบาท ธ.ก.ส.จะสามารถจ่ายเงินในโครงการประกันรายได้ข้าว ตั้งแต่งวด 3 จนถึง งวด 7 และยาวไปจนครบ 33 งวด ก็หวังว่าในช่วงจากนี้ไป ราคาข้าว 5 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเจ้า จะปรับตัวสูงขึ้น เพื่อลดการจ่ายเงินของรัฐบาล”
อนึ่ง "โครงการประกันรายได้ข้าว" รัฐบาลได้ใช้จ่ายชดเชยงวดที่ 1 เป็นเงิน 1.09 หมื่นล้านบาท งวดที่ 2 ใช้จ่าย 1,672.50 ล้านบาท งวดที่ 3 ใช้จ่าย 1,276.94 ล้านบาท งวดที่ 4 ใช้จ่าย 5,155.66 ล้านบาท งวดที่ 5 ใช้จ่ายกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท งวดที่ 6 ใช้จ่ายกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และงวดที่ 7 กว่า 2 หมื่นบาท รวมทั้งสิ้นใช้จ่ายไปกว่า 8 หมื่นล้านบาท (งวดที่ 8 จะเคาะชดเชยส่วนต่างวันที่ 3 ธ.ค.นี้)
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อนุมัติการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปัจจุบันได้ดำเนินการจ่ายเงินไปแล้ว 2 งวด ส่วนในงวดที่ 3 จะดำเนินการพิจารณาในที่ประชุม ครม. (30 พ.ย. 64) รวมทั้งเงินช่วยเหลือชาวนาในส่วนของต้นทุน ปัจจัยการผลิต และเมล็ดพันธุ์ข้าว ทางสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยได้นำเสนอ ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วก็มีการตอบรับและเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
“โครงการประกันกันรายได้พืชผลการเกษตร ในสภาวะที่ราคาตกต่ำ ได้แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและถูกใจเกษตรกร และยังรับหลักการช่วยเหลือเรื่องราคาปุ๋ยที่แพงเกินไป ตลอดจนราคาน้ำมันที่สูงเกิน จะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือให้ราคาถูกลง และยังช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดโดยใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เกษตรกรเริ่มเห็นอนาคตที่สดใสมากขึ้น นอกจากจะแปรรูปเป็นข้าวสารบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ จึงขอขอบคุณคณะรัฐบาลอย่างสูง ที่ให้โอกาสเกษตรกรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืน สมกับนโยบายของรัฐบาล” นายปราโมทย์ กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,736 วันที่ 2-4 ธันวาคม 2564