จากสถานการณ์ บริษัทเดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บมจ.สินทรัพย์ประกันภัย ) ที่ประสบปัญหาการเงินจากการที่บริษัทรับประกันภัยโควิด-19 ประเภท เจอ จ่าย จบ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนกระทั่งอัตราการเคลมพุ่งสูง ส่งผลกระทบฐานะการเงิน ขณะที่ผู้ถือหุ้นตัดสินใจไม่เพิ่มทุน
ล่าสุดเมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา คปภ. มีคำสั่งให้บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย หยุดรับประกันภัยชั่วคราว พร้อมให้เร่งแก้ไขฐานะการเงิน แต่ท้ายสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 2423/2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป
ไม่มั่นใจบริษัทฯสามารถชำระหนี้ได้
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงงบการเงินของบริษัทฯว่า เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน สินทรัพย์หนุนหลังไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด และมีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ยังมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานว่า บริษัทไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขฐานะการเงินของบริษัท ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัท ฯ มีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้
ส่องฐานะการเงิน "เดอะ วัน ประกันภัย"
"ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" รวบรวมข้อมูลงบการเงินบริษัท ฯ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 (ยังไม่ตรวจสอบ) พบว่า บริษัทมีทรัพย์สินรวม 3,094 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2563 ประมาณ 9.69% หนี้สินรวม 5,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ประมาณ 89.48% ขณะที่ส่วนของผุ้ถือหุ้นติดดลบ 2,900 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบ 2.07 เท่า
ขณะที่ บริษัทมาซาร์ส จำกัด (mazars )ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้ให้สังเกตหมายเหตุประกอบข้อมูลทางการเงินระหว่างกาล ระบุดังนี้
เงินกองทุนติดลบ
รายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทที่นำส่งต่อ คปภ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน 2564 แสดงมูลค่าเงินกองทุนต่ำกว่ากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงภายใต้พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัท ฯ จัดสรรทรัพย์สินตามมาตรา 23 ไม่เพียงพอ เป็นจำนวนเงิน 2,977.75 ล้านบาท ขณะที่ไม่สามารถจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยให้เพียงพอตามที่กำหนดในมาตรา 27/4 โดยไม่เพียงพอเป็นจำนวนเงิน 2,467.14 ล้านบาท