ผ่า 2 บิ๊กดีล “ซีพี-โลตัส” “เซ็นทรัล-เซลฟริดเจส”

24 ธ.ค. 2564 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 20:22 น.

จับตา 2 ดีลประวัติศาสตร์ “ซีพี-โลตัส” “เซ็นทรัล-เซลฟริดเจส” กับยุทธศาสตร์ "เทคโอเวอร์" เขย่าวงการค้าปลีกไทย ค้าปลีกโลก

หากการซื้อหุ้นควบรวมกิจการระหว่าง “เครือซีพี” กับเทสโก้ โลตัสในไทยและมาเลเซียซึ่งมีมูลค่ากว่า 3.38 แสนล้านบาท ถูกยกให้เป็นดีลแห่งปี 2563  เพราะสามารถเขย่าโลกค้าปลีกไทยและอาเซียนได้

 

การที่ “กลุ่มเซ็นทรัล” เข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส (Selfridges)  ทำให้ได้สิทธิ์การครอบครองห้างหรูถึง 18 แห่ง อย่าง  ห้างสรรพสินค้า เซลฟริดเจส (Selfridges) บนถนนออกซ์ฟอร์ด ในกรุงลอนดอน, แมนเชสเตอร์ และเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ, ห้างสรรพสินค้าดี แบนคอร์ฟ (de Bijenkorf)  ประเทศ เนเธอร์แลนด์, ห้างสรรพสินค้า บราวน์ โทมัส (Brown Thomas) และ อาร์นอตส์ (Arnotts) ประเทศไอร์แลนด์ ก็ถือเป็นอีกดีลประวัติศาสตร์ที่เขย่าวงการรีเทลโลกในปี 2564 ได้เลยทีเดียว

โลตัส

แม้จะไม่มีการยืนยันตัวเลขที่ชัดเจน แต่กูรูในวงการประเมินว่า ดีลนี้จะมีมูลค่ากว่า 4 พันล้านปอนด์หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุน 50:50 ระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับซิกน่า (SIGNA) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรีเทลชั้นนำของยุโรป โดยบริษัทดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มานานกว่า 20 ปี พันธมิตรเก่าแก่ที่เคยจูงมือกันไปช้อปห้างหรูในยุโรปมาแล้วหลายแห่ง

 

ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การลงทุนในกลุ่มเซลฟริดเจสครั้งนี้ ทำให้เซ็นทรัลได้สิทธิ์ในที่ดินและอาคารห้างเซลฟริดเจสบนถนนออกซ์ฟอร์ด ซึ่งตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางบนถนนช้อปปิ้ง ณ กรุงลอนดอน มากว่า 100 ปี

 

รวมถึงกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ประกอบไปด้วย 4 แบรนด์ดัง ได้แก่ เซลฟริดเจส (Selfridges) ประเทศอังกฤษ, บราวน์ โทมัส (Brown Thomas) ประเทศไอร์แลนด์, อาร์นอตส์ (Arnotts) ประเทศไอร์แลนด์, ดี แบนคอร์ฟ (de Bijenkorf) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งกลุ่มมีห้างสรรพสินค้ารวมทั้งสิ้น 18 แห่งทั่วโลก

ทศ จิราธิวัฒน์

การเข้าซื้อกลุ่มเซลฟริดเจส ถือเป็นกิจการที่สองที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อในช่วงวิกฤตโควิด-19 (ต่อจากห้าง “โกลบัส” (Globus) ห้างเก่าแก่อายุกว่า 129 ปี ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ใช้เงินซื้อไปกว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิสหรือราว 3.1 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเครื่องยืนยันถึงความเชื่อมั่นในทั้งธุรกิจค้าปลีกในใจกลางเมืองและอนาคตของห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมือง

 

กลุ่มเซ็นทรัลเชื่อมั่นว่าเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ชีวิตที่เป็นปกติและการสังสรรค์ต่างๆจะกลับมา กลุ่มเซลฟริดเจสจะเข้ามาเติมเต็มธุรกิจห้างสรรพสินค้าและออมนิแชแนลของกลุ่มเซ็นทรัล และทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ถือเป็นการตอกย้ำแนวคิดของ “ทศ จิราธิวัฒน์” ที่ปักหมุดขยายการลงทุนในต่างประเทศ ตามเทรนด์การท่องเที่ยวโลก (Global Tourism Trend) ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดดีลเจรจาทางธุรกิจทั้งในรูปแบบเข้าซื้อกิจการ (M&A), การร่วมทุน (Joint Venture) และการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Alliance)

 

การเริ่มสยายปีกรุกธุรกิจรีเทลในยุโรปที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการเข้าซื้อห้างหรูอย่าง “ลา รีนาเซนเต” (La Rinascente) ประเทศอิตาลี ด้วยเงินลงทุน 260 ล้านยูโร หรือราว 1.1 หมื่นล้านบาท จนปัจจุบันมีสาขารวม 9 สาขาใน 8 เมือง จากเดิมที่มีอยู่ 11 สาขา รวมถึงห้างเก่าแก่ “อิลลุม” (Illum) ในประเทศเดนมาร์ก ในปี 2556

เซลฟริดเจส Selfridges

ก่อนจับมือกับซิกน่า เข้าซื้อกิจการห้างหรูในเยอรมนี 3 ห้างได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe)  ห้างอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) โดยกลุ่มเซ็นทรัลเข้าถือหุ้นกลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นเจ้าของห้างทั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 50.1% ส่วนอีก 49.9% เป็นของซิกน่า  และยังควงคู่เดินหน้าซื้อห้างเก่าแก่อย่าง “โกลบัส” (Globus)  ในปี 2563 ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโควิด-19

 

แต่ความยิ่งใหญ่ในการเข้าซื้อกิจการห้างหรูตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็ไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับการเข้าซื้อกลุ่มเซลฟริดเจส ห้างยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ที่เป็นรองเพียง “Harrods” ทำให้กลุ่มเซ็นทรัล ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรีเทลยุโรป ตัวจริง เสียงจริง จะไม่เรียกว่า “เขย่าค้าปลีกโลก” ได้อย่างไร

ลา รีนาเซนเต La Rinascente

เพราะหากร้อยเรียงชื่อห้าง จำนวนสาขา จำนวนร้านค้าเชื่อว่า 3 หน้ากระดาษก็ยังไม่พอ หากคิดแบบ Metaverse หากห้างสุดหรูในยุโรป ของกลุ่มเซ็นทรัลจับมือผนึกกำลังกันทำแคมเปญจะสั่นสะเทือนวงการมากแค่ไหน

 

และดูเหมือนจะเป็นการตอกย้ำการซินเนอยีที่คาดว่าจะเห็นในเร็ววันกับคำพูดของ “แอนน์ พิชเชอร์” (Anne Pitcher) กรรมการผู้จัดการ กลุ่มเซลฟริดเจส ที่บอกว่า กลุ่มเซลฟริดเจสยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมทำงานกับห้างดังในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นรีนาเชนเตประเทศอิตาลี ,อิลลุม ประเทศเดนมาร์ก, โกลบุส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, คาเดเว ประเทศเยอรมนี และประเทศออสเตรีย ถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการผนึกกำลังและตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านรีเทลระดับโลกของธุรกิจเรา

 

เชื่อว่าห้างทั่วโลกต้องจับตาเมื่อดีลนี้บรรลุเงื่อนไขเสร็จสมบูรณ์ หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ในบ้านเรา  แต่ความน่ากลัวของการซินเนอยีตามสไตล์และกลยุทธ์การตลาดของยุโรป ยังแตกต่างจากบ้านเรา ด้วยกฎหมายที่เข้มงวด โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค, เกณฑ์การควบรวมธุรกิจที่ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม, การพิจารณาการควบรวมธุรกิจ เป็นต้น

 

ย้อนกลับมาดูบิ๊กดีลอย่าง “ซีพีและโลตัส” หลังควบรวมและโอนกิจการได้ไม่นาน  เครือซีพีก็ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกโอนถ่ายกิจการ จัดสรรหุ้นใหม่มูลค่ารวมกว่า 2.17 แสนล้านบาท เพื่อใช้ชำระเป็นค่าตอบแทนการรับโอนกิจการทั้งหมดไปอยู่กับ “แม็คโคร”  โดยมีเป้าหมายที่จะใช้โมเดลค้าปลีกของทั้งสองธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนไปตลาดต่างประเทศ

 

หลังคณะกรรมการ “แม็คโคร” มีมติอนุมัติการเข้าถือหุ้นและโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัส พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียน จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป  ซึ่งระดมทุนได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาทถือเป็นอีกบิ๊กดีล ที่เครือซีพีใช้เป็นหัวหอกในการบูรณาการธุรกิจทั้ง B2B (โดยแม็คโคร) และ B2C (โดยโลตัส)  ที่จะถูกใช้เป็นฐานทัพสำคัญในการขยายธุรกิจในอาเซียนและเอเชียใต้

 

แม้ 2 ดีลประวัติศาสตร์นี้จะกินเค้กกันคนละก้อน แต่ก็บ่งบอกได้ว่า “ (ฝีมือการเทคโอเวเอร์) คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”