เครื่องบินขับไล่เอฟ-35 (F-35) ที่กำลังเป็นข่าวฮือฮาและอยู่ในความสนใจของคนไทยในขณะนี้ เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) บริษัทด้านอากาศยาน เทคโนโลยีอวกาศ และยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศรายใหญ่ระดับโลกสัญชาติอเมริกัน เริ่มขึ้นบินครั้งแรกในปี 2549 ปัจจุบันมี 3 รุ่นด้วยกัน คือ
เครื่องบินรุ่นนี้เป็นเครื่องบินขับไล่ที่พัฒนาต่อยอดมาจากรุ่นเอ็กซ์-35 (X-35) ภายใต้โครงการเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม หรือเจเอสเอฟ (Joint Strike Fighter: JSF) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาจากสหรัฐ อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ที่ให้ทุนเพิ่มเติม เพื่อทดแทนเครื่องบินรบรุ่นก่อนหน้าคือ เอฟ-16 เอ-10 เอฟ/เอ-18 (รวมทั้งเอฟ/เอ-18อี/เอฟ) และเอวี-8บี
ทั้งนี้ F-35 ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินล่องหน เนื่องจากคุณสมบัติสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ จึงสามารถเจาะลึกเข้าไปในน่านฟ้าของศัตรูโดยไม่ปรากฏบนจอเรดาร์ นอกจากนี้ ยังมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ผสานและเซ็นเซอร์ซึ่งใช้ข้อมูลร่วมกัน ทั้งจากนอกและในเครื่องบิน เพื่อเพิ่มความระมัดระวังตัวให้กับนักบินและเพิ่มการระบุเป้าหมาย การยิงอาวุธ และส่งข้อมูลให้กับศูนย์บัญชาการได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังมีเครือข่ายข้อมูลความเร็วสูงไออีอีอี 1394 บิต
จากข้อมูลของเว็บไซต์ชื่อดัง TAF (https://thaiarmedforce.com) ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดของโครงการ F-35 ทั่วโลกในเดือนม.ค.2565 นี้ ระบุว่า จนถึงปัจจุบัน ล็อกฮีด มาร์ติน ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต ได้ส่งมอบ F-35 ทั้งสามรุ่นไปแล้วมากกว่า 750 ลำ และฝูงบิน F-35 ทั่วโลกมีชั่วโมงบินรวมกัน 274,699 เที่ยวบิน ด้วยจำนวนมากกว่า 470,000 ชั่วโมงบิน มีนักบินที่เข้ารับการฝึกมากกว่า 1,585 คน และช่างอากาศยานมากกว่า 11,545 คน ประเทศที่นำ F-35 ไปใช้ปฏิบัติภารกิจอยู่ (Nations Operating on Home Soil) มี 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ อิตาลี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ตามข่าวเมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเปิดใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ และความตั้งใจที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง F-35A Lightening II (ไลท์นิง ทู) มาประจำการ โดยได้ให้เหตุผลความจำเป็นว่า ตอนนี้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว เป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะดีเลิศ ประเทศต่างๆ ล้วนมีความต้องการซื้อหามาใช้งาน หากไทยมีโอกาสใช้งาน F-35 ก็จะเป็นการยกระดับให้กับทัพอากาศว่าเรามีของดีใช้ มีความคุ้มค่า ราคาเอื้อมถึง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดของล็อกฮีด มาร์ติน เครื่องบิน F-35A ที่เป็นรุ่นสำหรับกองทัพอากาศ ขึ้น-ลง บนสนามบินปกติ ราคาของเครื่องบินจากสายการผลิตลอต 14 จะอยู่ที่ 77.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากลอต 11 ก่อนหน้านี้ 12.8%
ราคาขายของ F-35 เมื่อตอนที่ออกมาใหม่ ๆ อยู่ที่ 142 ล้านดอลลาร์ เป็นราคาเครื่องเปล่า ไม่รวมอุปกรณ์สนับสนุน ราคาลงมาอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 82 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.7 พันล้านบาท) เปรียบเทียบกับเครื่องบิน JAS-39 E/F กริพเพน รุ่นใหม่ราคาสูงถึงลำละ 85 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น F-35 จึงมีราคาที่น่าสนใจ ซึ่งอาจสามารถเจรจาต่อรองได้ที่ระดับ 75-76 ล้านดอลลาร์
ในส่วนของการซ่อมบำรุง ซึ่งผู้ผลิตเรียกว่า Sustainment เมื่อพิจารณาเพียง F-35 A พบว่า มีชั่วโมงบินเฉลี่ยการพบความเสียหายหรือ Mean Flight Hour Between Failure สูงกว่าที่คาดไว้ คือ 9.8 ชั่วโมง เทียบกับที่คาดไว้เพียง 6 ชั่วโมง และต้องการชั่วโมงแรงงานในการซ่อมบำรุง น้อยลงกว่าที่คาดไว้ คือต้องการเพียง 5.3 ชั่วโมง เทียบกับที่คาดไว้ที่ 9 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่อชั่วโมงลดลง 45 % นับจากปี 2558 โดยในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 33,000 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
อีกปัจจัยน่าพิจารณาประกอบคือ ยังมีรายชื่อฐานทัพและศูนย์ซ่อมบำรุงประจำภูมิภาคของเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั่วโลกตามจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์ TAF ระบุว่า แม้ F-35 ยังอยู่ในสถานะ Low-rate Initial Production ซึ่งถือเป็นสถานะที่บ่งบอกว่า F-35 อยู่ในระหว่างการทดสอบ ตัวเครื่องยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังมีข้อผิดพลาดที่ยังต้องแก้กว่า 600 จุด แต่จากตัวเลขการผลิตราว 150 ลำต่อปี หรือผลิตได้ 1 ลำในทุก 2.5 วัน จึงค่อนข้างชัดเจนว่าอัตราการผลิตของล็อกฮีด มาร์ติน มาถึงจุดสูงสุดและมีความเสถียรแล้ว ซึ่งจำนวนการผลิตแม้จะมาก แต่ถือว่ายอดสั่งซื้อในอนาคตที่ได้รับแล้ว รวมทั้งที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้บริษัทสามารถคงสายการผลิต F-35 ไปได้อีกมากกว่าสิบปีเลยทีเดียว