กลายประเด็นร้อนสำหรับเรื่อง “การเสียภาษีคริปโต” หรือการ เสียภาษีจากซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วเรื่องการเก็บภาษีคริปโตไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเป็นไปตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและการมอบอำนาจการกำกับดูแลให้กับ ก.ล.ต. และ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 เป็นการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายที่ระบุให้ “รายได้” จากคริปโทเคอร์เรนซี และ “กำไร” จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีจะ ต้องนำมาคำนวณเพื่อยื่นภาษีด้วย หากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ (ผู้ซื้อ) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาย้อนหลังไป 3-4 ปีที่แล้วที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คริปโตยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนไทย จำนวนนักลงทุนจำนวนเหรียญ ผู้ให้บริการ Exchange ยังไม่มีไม่มาก นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งเงินกำไรหรือเสียภาษี แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคริปโตอยู่ในช่วงขาขึ้น บิตคอยน์ วิ่งขึ้นเป็นแตะ 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ นักลงทุนสามารถสร้างกำไรจากการซื้อขายคริปโตได้เป็นกอบเป็นกำ จึงเป็นจังหวะที่กรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษี เรียกเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโต
จนเกิดเป็นกระแสวิพากวิจารณ์ของบรรดากลุ่มนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลบนโลกโซเชียล ภายหลังจากมีข่าวจัดเก็บภาษีวันแรก นักลงทุนแห่หนีไปเทรดศูนย์ซื้อขายต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 40-50% ขณะที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภาซีอีโอของบริษัท Bitkub แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลจัดทำแบบสอบถาม ระดมความคิดเห็นจากนักลงทุน เพื่อเป็นตัวแทนหารือกรมสรรพากร เช่นเดียวกับซิปเม็ก ที่ออกตัวของเข้าหารือกับกรมสรรพากร ลามไปถึงนักการเมืองที่ทยอยออกมาแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน คัดค้านการจัดเก็บภาษีคริปโตเพราะเป็นการปิดกั้นโอกาสในการหารายได้ของคนรุ่นใหม่
ล่าสุดนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ขานรับคำสั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้เร่งสร้างความชัดเจนในเรื่องของหลักเกณฑ์การคิดคำนวนภาษีจากกำไร การขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอเรนซี ให้แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป
โดยระบุว่าขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยว ข้องเพื่อพิจารณาหาแนวทางดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบันคาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในเดือนมกราคมนี้
โดยกรมสรรพากรจะเร่งหา รือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น รวมถึงเดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่ดำเนินการในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำมาจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อ ให้เกิดความเหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนและบริบทในปัจจุบัน โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและทุกฝ่ายเป็นสำคัญ”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนและการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย เติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ทั้งผู้เสียภาษีและกรมสรรพากร ซึ่งกรมสรรพากรไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ รวมถึงได้มีการศึกษาและประมวลผลต่างๆ มาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังเร่งดำเนินการเพื่อหาความชัดเจนในเรื่องนี้
ทั้งนี้ กรมสรรพากรยังคงยึดแนวทางของการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Taxpayer-Centric) จึงพร้อมที่จะหาแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจากการถือครองหรือได้รับผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการลงทุน และสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จากนวัตกรรมทางการเงินดังกล่าวของประเทศต่อไป
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,748 หน้า 8 วันที่ 13 - 15 มกราคม 2565