ปี 2030 (2573) องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1,200 ล้านคน จะส่งผลให้แต่ละประเทศมีความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตสร้างความมั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้น
แหล่งข่าวจากวงการค้าสารเคมี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง สถานการณ์ราคาแม่ปุ๋ยตลาดโลกซื้อขายล่วงหน้าล่าสุด ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ราคาปรับตัวลงมาก ปัจจัยสำคัญจากการซื้อยูเรียของอินเดียกดดันให้ราคาที่เสนอต่ำกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (เป็นราคา CFR ที่ผู้ขายรับภาระค่าใช้จ่าย และค่าขนส่งเพื่อการส่งของถึงปลายทาง แต่ผู้ซื้อจะเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงต่อการเสียหายหรือสูญหายของสินค้า) เพราะเป็นความต้องการเดียวที่เกิดขึ้นในตลาดในเวลานี้ ซึ่งสามารถดูดซับสินค้าในตลาดได้ถึง 1.2-1.4 ล้านตัน (ขณะที่ตลาดทั่วโลกมีผู้ใช้ยูเรียรวมกันประมาณ 2 ล้านตัน)
ทั้งนี้หลายฝ่ายคาดว่าราคาจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อไป หากสหรัฐฯและยุโรป ยังไม่เข้ามาซื้อแข่ง ส่วนอินเดียคาดจะกลับมาซื้อเพิ่มอีกครั้งประมาณ 45 วันหลังจากนี้ ส่งผลให้ราคายูเรียเวลานี้ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากก่อนหน้านั้นเคยขึ้นไปสูงกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกรทั่วโลกที่ราคาปุ๋ยจะลดต่ำลง
ส่วนแม่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ภาพรวมการซื้อขายเงียบ จากความต้องการของยุโรปปรับลดลง ส่วนในภูมิภาคเอเชีย จีนเพิ่งกลับมาเริ่มต้นหลังหยุดยาวตรุษจีน ดังนั้นหากยังไม่มีความต้องการที่ชัดเจน ตลาดน่าจะชะลอตัวอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะเข้าฤดูกาลเพาะปลูก
เช่นเดียวกับปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ทั่วโลกยังคงมีการซื้อต่อเนื่อง เช่น อินเดียยังคงซื้อเพื่อเติมสต๊อกในประเทศที่ต่ำ ส่วนสหรัฐฯและบราซิลยังคงซื้อเติมสต๊อก เนื่องจากราคาธัญพืชที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะตลาดที่ชะลอตัวคือจีน ที่เพิ่งกลับจากการหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน และยังคงกำลังการผลิตปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟตไว้เพียง 60% เท่านั้น
ส่วนตลาดปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ มีแนวโน้มคงที่ โดยมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นของเบลารุสที่จะส่งสินค้าผ่านทางรัสเซีย ทำให้การซื้อขายในตลาดชะลอตัวและหยุดชะงักลง ส่วนจีนและอินเดีย ไม่มีการซื้อขายอะไรเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า วันนี้สิ่งที่ห่วงที่สุดคือ ราคาปุ๋ยเคมีที่รัฐบาลขอความร่วมมือผู้ค้าช่วยตรึงราคาออกไปก่อนทำให้ไม่มีโรงงานกล้าสั่งนำเข้าวัตถุดิบ สถานการณ์ในประเทศปุ๋ยขาดแคลนและขาดตลาดในหลายสูตร การใช้แรงงานในโรงงานลดลง ช่วงนี้ต้องวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าเพื่อเตรียมไว้ผลิตในตอนต้นฤดูการเพาะปลูก ทั้งข้าวนาปรัง และนาปี รวมถึงเพื่อใช้ในพืชอื่น ๆ เริ่มเมษายน-พฤษภาคมนี้
“ตอนนี้ไม่มีใครกล้าสั่งนำปุ๋ยเข้ามาเลย ซึ่งจะส่งผลทำให้สินค้าใต้ดินที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้คุณภาพ และราคาถูก จะแทรกขึ้นมาในรูปแบบลดแลกแจกแถม ที่จะลงพื้นที่ไปหาเกษตรกร หากปล่อยให้มีการโฆษณาแบบผิด ๆ จะทำให้คุณภาพผลผลิตของประเทศได้รับผลกระทบ ในส่วนสมาชิกของสมาคมก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการตรึงราคา หลายบริษัทยอมขาดทุน”
ด้านนายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเหมืองโปแตซมองว่า เป็นเรื่องที่ดี หากทำได้จะช่วยเกษตรกรได้มาก เพราะจะทำให้ราคาปุ๋ยต่ำลง โรงงานในประเทศจะมีวัตถุดิบ และมีอำนาจต่อรองระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคุณภาพแร่โปแตซไทยมีคุณภาพเกรดเดียวกับประเทศแคนาดาที่ทั่วโลกต่างยอมรับว่าเป็นปุ๋ยที่สุดที่สุดของโลก เปรียบเทียบแคนาดา ต้องขุดแร่ลึกถึง 4-5 กิโลเมตร ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ขณะที่เมืองไทยขุดลึกเพียง 300-600 เมตรเท่านั้น
แต่เวลานี้โครงการต้องแท้งไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จากกลุ่มเอ็นจีโอ และข้าราชการมหาวิทยาลัยไปปลูกฝังความคิดไว้ว่าเมื่อไรที่เมืองไทยขุดแร่โปแตซ จะทำให้จังหวัดอุดรธานีถล่มจมหาย ทำให้เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นเสียที ทั้งที่เป็นประโยชน์กับประเทศ
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,759 วันที่ 20 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565