เปิดช่องทาง ร้องเรียนทนายความ ผิดจริยธรรม โทษสูงสุดลบชื่อจากทะเบียน

27 เม.ย. 2565 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 12:11 น.

เปิดช่องทาง ร้องเรียนทนายความ ผิดจริยธรรม ประชาชนสามารถร้องเรียนได้หากได้รับผลกระทบหรือเห็นว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โทษสูงสุดลบชื่อจากทะเบียน

เมื่อมีคดีสำคัญ หรือแม้แต่ประเด็นร้อนๆในสังคม ระยะหลังมานี้เราได้เห็น "คนรู้กฎหมาย" ซึ่งส่วนมากคือ “ทนายความ” โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียแบบนี้ สังคมได้พบกับ “ทนายความโซเชียล”

ที่ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์กับคดีและลูกความของตนเอง จนบางครั้งเกิดเสียงวิพากวิจารย์จากสังคมว่าเข้าข่ายการสร้างข่าวหรือไม่ และเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมและมรรยาทของทนายความอย่างไร

ยกตัวอย่างประเด็นสำคัญอย่าง “คดีแตงโม นิดา” เราได้เห็นทนายความหลายคนออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อส่วนตัวและสื่ออื่นๆ จนล่าสุด ผบก.ภ.จ.นนทบุรี ในฐานะตำรวจที่ทำสำนวนคดีนี้ ได้แจ้งความดำเนินคดี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานและหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา หลังพูดออกรายการโทรทัศน์ ทำให้เจ้าพนักงานได้รับความเสียหาย

พอเกิดเรื่องร้องเรียนเเบบนี้ ก็น่าสนใจว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบความประพฤติของทนายความได้อย่างและ สภาทนายมีบทบาทในเรื่องเหล่านี้บ้างหรือไม่  ปัญหาเหล่านี้จะมีทางออกอย่างไร

 

"ว่าที่ร้อยตรี ดร. ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ"  บอกว่า ต้องดูว่าพฤติกรรมของทนายความเเต่ละคน เข้าข่ายมรรยาทหมวดไหนเพราะมีหลายหมวด แต่ตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความนั้นมีหมวดที่ระบุโดยสรุปได้ว่า ห้ามโอ้อวดให้คนมาหาในเชิงคดีหรือบอกว่าจะไม่เรียกว่าความคดี ไปจนถึงประพฤติตนเสื่อมเสีย ซึ่งมีโทษจากหนักไปหาเบา ประกอบด้วย โทษเบาสุด คือ ตักเตือนภาคทัณฑ์ โดยห้ามทำการเป็นทนายความ 3 ปี ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี  สุดท้ายลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

 

“เตือนอยู่เสมอว่าไม่ให้โอ้อวดเพื่อให้มีคดีหรือบอกว่าจะไม่เรียกว่าความคดี ประพฤติตนเสื่อมเสีย ต้องดูเปนเรื่องๆไป การไปออกสื่อหรือใช้สื่อโซเชียลเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ต้องไม่กระทบกับคนอื่น ถ้ากระทบกับใครก็สามารถแจ้งความฟ้องร้องได้ ประชาชนก็สามารถร้องเรียนได้หากได้รับผลกระทบ เช่น ทนายความไปหลอกลวง หรือแม้แต่หากเห็นว่าทนายความมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ทำหนังสือเสนอมาที่ประธานคณะกรรมการมรรยาท เพราะมีอำนาจใช้ความปรากฎได้ มีสิทธิหยิบยกมาพิจารณาได้เลย ซึ่งคณะกรรมการมีการหารือในประเด็นมรรยาททุกเดือน” นายกสภาทนายความ อธิบาย

ว่าที่ร้อยตรี ดร. ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ

แน่นอนว่าทนายความเป็นวิชาชีพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่จะค้นคว้าหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี ให้เป็นไปตามตัวบทกฏหมาย ดังนั้นเราไม่อาจปฎิเสธได้ว่าทนายความควรมีความประพฤติที่เหมาะสมในขณะปฏิบัติหน้าที่ในศาล การปฏิบัติตนภายนอกศาลซึ่งเกี่ยวข้องกับคดี ควรอยู่ในกรอบของจริยธรรมทั้งในด้านส่วนตัวและต่อบุคคลอื่น 

 

ข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ  พ.ศ 2529  ว่าด้วยมรรยาททนายความออกเป็น 5  หมวด คือ

  • มรรยาทของทนายความต่อศาลและในศาล
  • มรรยาทของทนายความต่อตัวความ
  • มรรยาทของทนายความต่อทนายความด้วยกัน  และต่อประชาชนผู้มีอรรถคดีและอื่นๆ
  • มรรยาทในการแต่งกายของทนายความ
  • มรรยาทในการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ

 

เเต่สำหรับมรรยาททนายความข้อที่สำคัญนั้น 

ข้อ 6  ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา

 

ข้อ 7  กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลง หรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

 

ข้อ 8  สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จหรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใดๆ ซึ่งรวรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

 

ข้อ 10  ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่าง หรือแก้ต่าง

  • หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้
  • อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความคนอื่น
  • อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใดๆได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้

 

ข้อ 12  กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ

  • จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี
  • จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

 

ข้อ 13  ได้รับปรึกษาหารือ หรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่รวามฝ่ายหนึ่ง แล้วภายหลังไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ในกรณีเดียวกัน

 

ข้อ 15  กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร

 

ข้อ 16  แย่ง หรือทำการใดในลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่า หรือรับ หรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นว่าอยู่แล้ว เว้นแต่

  • ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้นแล้ว
  • มีเหตุผลอันควรเชื่อว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว

 

ข้อ 17  ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใดๆ ดังต่อไปนี้

  • อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเอง หรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง หรือ
  • ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่หรือสำนักงาน อันเป็นไปในทางโอ้อวดเป็นเชิงชักชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ หรืออื่นๆดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ

 

ข้อ 18  ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ

ข้อมูลอ้างอิง : สภาทนายความ