กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการกำหนดความต้องการใช้ข้าวปีการผลิต 2565/66 มีปริมาณรวม 27.646 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (ปีการผลิต 2564/65) ซึ่งกำหนดไว้ที่ปริมาณ 26.918 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น 0.728 ล้านตัน แบ่งเป็นทำเมล็ดพันธุ์ 1.365 ล้านตันข้าวเปลือก, บริโภคทั่วไป 5.675 ล้านตันข้าวสาร, ใช้ในอุตสาหกรรม 4.408 ล้านตันข้าวสาร และเป้าหมายส่งออก 7 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวส่งผลให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งกันกับประเทศคู่แข่งได้
นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากตลาดข้าวโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำให้ความต้องการข้าวของโรงสี และผู้ส่งออกในแต่ละพื้นที่มีความต้องการข้าวในแต่ละพันธุ์แตกต่างกัน ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวแบ่งเป็นพันธุ์ข้าวนุ่ม และพันธุ์ข้าวพื้นแข็ง เช่น พื้นที่โซนภาคเหนือตอนล่าง จะเป็นข้าวพื้นนุ่ม กับข้าวพื้นแข็ง คือหากจะปลูกข้าวพื้นนุ่มจะปลูกกันเต็มพื้นที่ เพราะเวลากลุ่มโรงสีมาซื้อก็จะซื้อคราวเดียวกัน กลุ่มนี้จะเป็น “ข้าวหอมปทุมธานี” กับ “ข้าวพันธุ์ กข79” เนื่องจากมีผลผลิตต่อไร่สูง และราคาก็ดีกว่าข้าวพื้นแข็ง
ส่วนในกลุ่มของข้าวพื้นแข็งที่โรงสีต้องการ มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ “กข85” กับ “กข57” โดยบริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของเมืองไทย ที่ส่วนหนึ่งมีการผลิตข้าวนึ่ง มีตลาดใหญ่ที่แอฟริกา ต้องการข้าว “กข57” และได้ประสานมายังตน ให้ช่วยหาพื้นที่ให้ 2 แสนไร่ในการปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่อุตรดิตถ์ สุโขทัย และพิษณุโลก ซึ่งข้าวพันธุ์นี้มีอายุการปลูกและเก็บเกี่ยวใน 110 -115 วัน ให้ผลผลิต 900-1,100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยให้ราคานำตลาด 200 บาทต่อตัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ตลาดข้าวกำลังไปได้ดี โรงสีแย่งชิงพื้นที่ปลูกและรับซื้อจากเกษตรกร
นายอัษฎางค์ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดข้าวเหนียว คาดปีนี้จะปลูกเฉพาะพื้นที่คืออีสาน และภาคเหนือตอนบนที่ชาวบ้านปลูกและเก็บไว้รับประทานในครอบครัวจะไม่กระจายลงมาในเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคอื่น ๆ เพราะราคาไม่จูงใจ และโครงการประกันรายได้ข้าวไม่ค่อยได้ราคาชดเชยมากอีกทั้งผลผลิตต่ำบวกลบต้นทุนไม่คุ้ม
ด้านนายสุเทพ คงมาก ผู้ประกอบการโรงสีข้าวเกียรติคงทนพาณิชย์ จังหวัดนครศรี ธรรมราช และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ล่าสุด เป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว ด้านเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ตลาดข้าวอินทรีย์ (ข้าวที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี) เวลานี้สดใส ตลาดมีความต้องการต่อเนื่องต้องขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากมีตลาดรองรับที่แน่นอน ส่วนตัวได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกเป็นข้าวชนิดหลัก
สำหรับข้อดีของข้าวอินทรีย์คือเป็นข้าวที่มีความปลอดภัยต่อผู้ปลูกและผู้บริโภค เพราะไม่ใช้สารเคมี หรือปุ๋ยเคมีในการปลูก ขายได้ราคา ซึ่งหากชาวนารายใดปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ทางโรงสีจะบวกให้จากราคาตลาดอีกตันละ 2,000 บาท มีเป้าหมายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) อาทิ นครพนม อุบลราชธานี เป็นต้น อย่างไรก็ดีข้าวกลุ่มนี้ทางรัฐบาลมีการสนับสนุนจัดสรรโควตาส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (อียู) จำนวน 1,700 ตันต่อปี เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ไปยังอียูด้วย
“เทรนด์ข้าวปีนี้ที่ตลาดร้อนแรง นอกจากข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งเป็นข้าวที่ไม่เคยตายไปจากเกษตรกร เป็นน้องข้าวหอมมะลิคือข้าวหอมปทุมธานี โดยเฉพาะช่วงนี้จังหวะไล่จี้ข้าวหอมมะลิ ตลาดให้ความนิยม ส่วนพันธุ์ใหม่ กข85 และกข87 เป็นข้าวเทรนด์ใหม่ที่จะมาเพิ่มเติม ส่วนข้าวที่จะปลูกเพื่อทำอาหารสัตว์ อายุสั้น จะเป็นทาง ออกอีกทางหนึ่งจากพืชอาหารสัตว์ขาดแคลนทั่วโลก ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ของโลกจะต้องแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวส่วนหนึ่งปลูกข้าวกลุ่มนี้ อาทิ กข81,กข91 เป็นต้น”
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์โรงสีข้าวไทย และในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งทรัพย์พืชผล เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายข้าวถุง ยี่ห้อ “ตาต่อ” กล่าวว่า ราคาข้าวหอมปทุมธานี ในปีนี้ร้อนแรง ตลาดมีความต้องการสูง ประกอบกับชาวนาปลูกน้อย และหันไปปลูกข้าวพันธุ์อื่นเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับราคาข้าวขาวธรรมดาแล้วราคาข้าวหอมปทุมธานีจะราคาสูงกว่าประมาณ 2,000 บาทต่อตัน ดังนั้นจึงเป็นข้าวอีกพันธุ์ที่ชาวนาควรปลูก
ขณะแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและมีการบริโภคข้าวมากขึ้นประกอบกับคาดว่าน้ำฝนและน้ำในอ่างเก็บน้ำในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูก จะทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น และจากเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาข้าวไทยปีนี้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้
ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยมากนัก แต่ส่งผลให้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าข้าวหักจากไทยเพื่อนำไปใช้ผลิตอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดหรือข้าวสาลีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้นำเข้าบางส่วนยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้ ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกร และผู้ส่งออกข้าวของไทย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,785 วันที่ 22-25 พฤษภาคม 2565