เศรษฐกิจไทยปัจจุบันกำลังผจญกับสารพัดปัญหาฉุดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกือบทุกตัวแทบดับสนิท เหลือเพียงแค่การส่งออกเท่านั้นที่พอไปได้ แต่อย่างไรเสีย ความไม่แน่นอนในอนาคตข้างหน้ายังมีเรื่องท้าทายอยู่อีกมาก และ ณ เวลานี้ จำเป็นแล้วหรือไม่ที่รัฐบาล และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งหา “โมเดลเศรษฐกิจใหม่” รองรับโลกที่กำลังเปลี่ยนไปทุกวินาที
ด้วยสถานการณ์บังคับหลายคนคงเห็นกับตาและจับต้องได้ด้วยมือทั้งสองข้าง กับโลกยุคใหม่ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคแห่งความท้าทายและความไม่แน่นอน โดยมีกรณีของการะบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจไม่ให้สะดุด
ความสำคัญของโลกยุคใหม่ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า ถึงเวลาแล้วที่ “โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ” รูปแบบเดิม ๆ ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับ เพื่อเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ
หัวหน้าพรรคกล้า ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโมเดลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศใหม่ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน มั่นคง และต่อเนื่องเข้าประเทศ โดยที่ผ่านมาทุกคนได้เห็นกันแล้วว่า โมเดลเดิม ๆ มีปัญหาในเชิ่งโครงสร้าง อีกทั้งประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ดังนั้นในช่วงเวลาอันใกล้จึงจำเป็นไม่ได้ที่ต้องเร่งเปลี่ยนโมเดล
สำหรับโมเดลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องหารายได้ใหม่ทดแทนรายได้เดิม เบื้องต้นมองเห็นประเด็นใหญ่ ๆ ที่น่าจะช่วยปั๊มรายได้เข้าประเทศในระยะยาว ดังนี้
1. การผลักดันยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow Economy) หรือการส่งเสริมและเปิดกว้างสำหรับการสร้างเศรษฐกิจรองรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ทั้งไทยและต่างชาติ โดยสิ่งที่ทำได้ทันทีคือ การดึงคนเหล่านี้ให้เดินทางท่องเที่ยว หรือดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดึงดูดความสนใจต่อเนื่อง
โดยใช้โอกาสที่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเตรียมพร้อมเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งเชื่อว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้จะเป็นแค่การเริ่มต้นแต่ก็ช่วยแง้มประตูให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้น และในอนาคตหากต่อยอดไปถึงการจดทะเบียนสมรสของชาวต่างชาติได้ จะยิ่งเติมเต็มรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล
ทั้งนี้จากผลการสำรวจในต่างประเทศชี้ชัดว่า กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ นับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง เฉลี่ยแล้วคนกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายสูงกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
อีกทั้งจากการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรมของไทย ยังพบข้อมูลด้วยว่า กลุ่มคู่รัก LGBTQ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยใช้จ่ายเงินมากกว่าคู่รักชายหญิงประมาณ 50% ดังนั้นหากทุกฝ่ายหันมาส่งเสริมเรื่องนี้จริงจัง เชื่อว่า พลังของ LGBTQ จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี
2. การดึงเรื่องสีเทาขึ้นมาให้ถูกต้อง เหมาะสม และถูกที่ถูกทาง เช่น การผลักดันกาสิโนถูกกฎหมาย (Entertainment Complex) ในประเทศไทย โดยอาจทดลองทำเป็นแซนด์บ็อก หรือพื้นที่ปิดก่อน โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปจำนวนมาก เช่น จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จัก
โดยแนวทางการทำเรื่องนี้ ต้องเปิดให้ประชาชนร่วมกันทำประชามติว่าจะทำหรือไม่ หากทดลองทำแล้วได้ผลดี ก็ขยายไปพื้นที่ทดลองอื่น ๆ ได้ แต่หากไม่ดีก็ยกเลิก หรืออาจปรับเงื่อนไขให้เหมาะสม ซึ่งส่วนตัวแล้ว เชื่อมั่นว่า จะเป็นช่องทางสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก และรัฐบาลยังเก็บรายได้หลายทาง ทั้งด้านการท่องเที่ยว และด้านภาษีสารพัด
3. การท่องเที่ยวสายมู หรือการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism) นับเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มีมานานคู่กับสังคมไทย แต่ปัจจุบันกำลังกลับมาได้รับความนิยม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดทำให้เกิดการกระจายรายได้ลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้มาก เห็นได้จากตัวอย่างของการเดินทางไหว้ขอพร ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
รวมไปทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่สามารถผลักดันทำให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวสายมูได้ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ได้รับความนิยมจากคนไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมไกลไปถึงชาวต่างชาตินิยมที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย
ที่สำคัญเส้นทางการท่องเที่ยวลักษณะนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมรองรับอยู่แล้ว ทั้งสถานที่ การอำนวยความสะดวก ขาดแต่การปรุงแต่งขึ้นมาให้น่าสนใจ โดเฉพาะการเล่าเรื่องราวที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้
นอกจากนี้สิ่งที่จะมาช่วยสนับสนุนอีกอย่าง คือการอำนวยความสะดวกทางด้านการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลควรหาทางปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเดินทาง ซึ่งจากการลงพื้นที่พบประชาชน ก็มีตัวอย่างของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะผลักดันให้เกิดขึ้น เช่น การสร้างสะพานข้ามไปยังเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางทางเรือ อีกทั้งยังช่วยรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้อีกด้วย
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนใช้จินตนาในการบริหารเศรษฐกิจ ผ่านการหารายได้ใหม่ ๆ ผลักดันเป็นโมเดลรายได้เข้าประเทศ แทนรูปแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวนั้น ตอนนี้มีอะไรให้ทำอีกมาก รวมทั้งการปลดล็อกอุปสรรคการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามการผลักดันสารพัดเรื่องดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็คงต้องมาติดตามกันอีกที และสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่ประเทศจะได้อะไรจากโมเดลเศรษฐกิจใหม่ แต่โจทย์ใหญ่กว่านั้นคือ ประชาชนจะได้อะไรจากสิ่งที่มาจากโมเดลนี้ต่างหาก