แม้จะไม่แน่ชัดว่าสะพานกลับรถพระราม 2 ถล่มทับรถยนต์เสียหายรวม 3 คัน เสียชีวิต 2 ราย บริเวณหน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง จากการยืนยันของ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ไม่ได้เป็นงานก่อสร้างโดยเอกชน จึงเป็นความรับผิดชอบเต็มๆ ของกรมทางหลวง โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ทราบข้อเท็จจริงภายใน 14 วัน
นายสราวุธ ระบุสาเหตุเบื้องต้น ว่า มีการสกัดพื้นสะพานคอนกรีตเดิมออก น้ำหนักที่เดิมมีทั้งพื้นที่สะพานและคาน 5 คาน เมื่อนำพื้นเดิมออกน้ำหนักที่กดทับอยู่หายไป ทำให้ตำแหน่งของคานที่วางอยู่ ซึ่งมีแผ่นยางรองคาน ซัพพอร์ตหัวและท้าย น่าจะเกิดการขยับตัว ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมา น้ำฝนอาจจะทำให้การเคลื่อนตัวของคาน เกิดการเคลื่อนตัวคานตัวริมที่ร่วงหล่นลงไป
เเละสะพานนี้สร้างมาเมื่อปี พ.ศ. 2536 ประมาณ 29 ปี เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ด้านล่าง เมื่อปี พ.ศ. 2547 และอาจจะมีความร้อนขึ้นไปถึงตัวสะพานเกือกม้า อาจทำให้โครงสร้างที่เป็นเหล็กคอนกรีตเสียหาย มากขึ้น
"ฐานเศรษฐกิจ" พูดคุยกับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย โดยได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุการถล่มของสะพานดังกล่าว ระบุว่า จากประเมินลักษณะคานหล่น พบว่าเป็นคานตัวริมของโครงสร้างสะพานกลับรถ ซึ่งคานที่ร่วงลงมาอยู่ในช่วงทางโค้งกลับรถและเป็นคานตัวริมนอกสุด
ในเบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจากสกัดโครงสร้างพื้นสะพานที่เสียหายเพื่อทำการซ่อมแซม และเนื่องจากว่าคานตัวริมที่ร่วงหล่นลงมานี้ ต้องรองรับแผ่นแบริเออร์กันรถตก ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ประกอบกับแผ่นแบริเออร์ดังกล่าวไม่ได้วางอยู่บนคานโดยตรง แต่วางเยื้องอยู่บนพื้นอีกที และในขณะที่ทำการซ่อมพื้นสะพาน อาจจะมีการตัดหรือเจาะ หรือสกัดพื้นเพื่อทำพื้นขึ้นใหม่ ทำให้เกิดการสูญเสียการยึดรั้งกับพื้นช่วงนอกแล้วทำให้คานสะพานร่วงลงมา ทั้งนี้สาเหตุที่แท้จริงต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประเมินและสรุปอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการพังถล่มของสะพานทั่วไป ก็อาจมีได้จากหลายสาเหตุ เช่น 1.การตัดโครงสร้างสำคัญ ทำให้สูญเสียการยึดรั้ง 2.น้ำหนักบรรทุกเกิน 3.สะพานเก่า ไม่ได้ดูแลรักษา และ 4.ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติต่างๆ เช่นรถชนคานสะพาน เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นงานอันตรายที่เข้าข่ายวิศวกรรมควบคุม จึงจำเป็นต้องดูว่า มีวิศวกรมาคุมงาน มีการคำนวนออกแบบ ขั้นตอนการทำงาน การประเมินความเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีขั้นตอนการทำงาน ที่แสดงตำแหน่งและลำดับการตัดเจาะโครงสร้างหรือไม่ เพราะโครงสร้างแต่ละส่วนมักจะมีการยึดรั้งซึ่งกันและกันอยู่ หากการยึดรั้งสูญเสียไป ก็อาจทำให้พังถล่มได้
นอกจากนี้ยังต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงอันตรายอื่นๆด้วย (Job safety analysis) เช่น โอกาสที่จะเกิดการร่วงหล่นของส่วนโครงสร้างหรือวัสดุต่างๆ หากต้องมีการตัด เจาะ ซ่อมแซมก็จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงและมีวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนใดหล่นลงมา หรือหากประเมินแล้วว่าเสี่ยงจริงก็อาจต้องมีการปิดถนน ปิดการจราจรแล้วใช้เส้นทางเบี่ยงแทน ถ้าทำทุกอย่างครบถ้วนถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว โอกาสที่จะเกิดอันตรายก็จะลดลงได้
ศ.ดร.อมร ระบุว่า คงไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็ต้องลดความเสี่ยงลงให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันหากทำไม่ถูกหลักวิศกรรม ก็ถือว่าผิดหลักวิชาชีพ วิศวกรอาจต้องรับผิดชอบ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจถูกฟ้องร้องเพราะมีคนเสียชีวิต ที่สำคัญคือ "ความกลัวของประชาชน"
สำหรับโครงการนี้ กรมทางหลวง ดำเนินการโดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ซึ่งดูแลการซ่อมบำรุงในพื้นที่ภาคกลาง แผนในการซ่อมสะพานตัวนี้ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เริ่มซ่อมเมื่อ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ควบคุมงาน เป็นกรมทางหลวงทั้งหมด ส่วนคนงานก็เป็นคนงานที่กรมทางหลวงจ้างมา ขณะที่สะพานแห่งนี้ ก่อสร้างเมื่อปี 2536