"แด่…สามัญสำนึก" ระบบปัญญาประดิษฐ์ กับกลไกAI- Common Sense ที่ปราศจากอคติ

22 ก.ค. 2564 | 07:48 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 15:09 น.

"สามัญสำนึก" ความสามารถที่มีอยู่ในมนุษย์ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ใน ปัญญาประดิษฐ์ ในโครงข่ายประสาทเทียม ที่สามารถเรียนรู้จากฐานความรู้ ซึ่งจะกลายเป็นก้าวกระโดดในการสร้างกลไก AI- Common Sense หรือ โครงการอเล็กซานเดรีย ของบริษัทไมโครซอฟต์

ความน่ากลัวของปัญญาประดิษฐ์ ที่มนุษย์หวาดเกรงว่า มันจะเข้ามาแย่งงาน ดึงอาชีพบางอย่างไปจากมนุษย์ กำลังน่าวิตกมากขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องนี้ ดร. ณัฐวุฒิ  พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแก่งประเทศไทย (PMAT)ได้เขียนบทความ "แด่...สามัญสำนึก" ไว้อย่างน่าสนใจ



สองพันกว่าปีก่อน อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวถึง ‘สามัญสำนึก’ ว่าเป็นความสามารถที่มีอยู่ในสัตว์ (รวมทั้งมนุษย์) ในการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อประมวลความรู้สึก ความทรงจำผสานด้วยจินตนาการ เพื่อ ให้บรรลุการคิดและตัดสินใจขั้นพื้นฐาน อริสโตเติลเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทเดียวที่รู้จักใช้เหตุและผล ทำให้การตัดสินใจของมนุษย์อยู่เหนือกว่า ‘สามัญสำนึก’ 

 

ยุคสมัยของอริสโตเติล ‘สามัญสำนึก’ ดูมีความหมายที่ ‘เบา’ จนเสมือนไม่มีตัวตน แต่ก็ยังคงเป็น ‘อากาศธาตุ’ ที่ขาดไม่ได้ เมื่อสังคมขยายตัวพร้อมกับองค์ความรู้ที่พัฒนามากขึ้น กังหันลมของกาลเวลาได้พัดพาธรรมชาติแห่งความเป็นจริงเข้ามา จนเผยให้เห็นการมีอยู่ของเจตจำนงเสรี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การให้คำจำกัดความ ‘สามัญสำนึก’ จึงได้ถูกตีความใหม่ในมิติที่ลุ่มลึกกว่าเดิม 

บุคคลที่มีส่วนสำคํญคือ โธมัส เพน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนบทความ ‘Common Sense’ ในปี ค.ศ. 1776 แม้จะตีพิมพ์เป็นเพียงจุลสารเล่มเล็ก แต่ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกใบใหญ่ โธมัส เพน นำเสนอข้อถกเถียงอันทรงพลังเกี่ยวกับความคิดพื้นฐาน ที่ส่งผลให้ชาวอาณานิคมอเมริกันภายใต้การปกครองของอังกฤษเริ่มรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และความไร้เหตุผล ภายใต้ระบอบการปกครองที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนนำไปสู่การตัดสินใจประกาศเอกราชจากเครือจักรภพอังกฤษ 

 

จอห์น อดัมส์ ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา ถึงกับกล่าวว่า ‘หากปราศจากปากกาของผู้เขียนสามัญสำนึก ดาบของวอชิงตันก็คงกวัดแกว่งอย่างสูญเปล่า’

 

‘สามัญสำนึก’ ในปัจจุบันได้ถูกนิยามใหม่ให้ครอบคลุมถึงความสำนึก หรือความเฉลียวใจที่คนทั่วไปควรจะต้องรู้ และตัดสินได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำชี้แนะสั่งสอน หรือต้องใช้ความรู้ที่สลับซับซ้อน หรือการวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่มีพื้นฐานอยู่บนกฏธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คนปกติธรรมดาเข้าใจตรงกันว่าสิ่งใดควรยึดถือและปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน เพื่อธำรงความดีงามของส่วนรวมเอาไว้ 

 

แม้กระนั้นก็ตาม ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถใช้สามัญสำนึกของตนได้อย่างเหมาะสม สาเหตุหลักเพราะบางคนยังไม่สามารถละทิ้งชุดความเชื่อที่เป็นอคติ และอุดมไปด้วยความมั่นใจในตนเองที่สะสมไว้ยาวนาน อันเนื่องมาจากการให้คุณค่ากับตนเองมากเกินไป จึงพยายามแสวงหาตรรกะและเหตุผลต่างๆ นานา มาหักล้างความคิดพื้นฐานอันเป็น ‘สามัญสำนึก’ ที่คนส่วนใหญ่ล้วนเห็นพ้อง

 

คุณค่าของ ‘สามัญสำนึก’ ในความหมายใหม่ ทำให้มนุษย์โดยพื้นฐานอยู่เหนือกว่าสัตว์ ในการตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ในยุคที่สมองกลและปัญญาประดิษฐ์กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และอาจเปลี่ยนสถานะจากทาสรับใช้ตามคำสั่ง เป็นเพื่อนร่วมงานที่มีสติปัญญาและความสามารถระดับเดียวกันกับมนุษย์ (Human-level AI) ศักยภาพในการเรียนรู้เชิงลึกและการประมวลผลทำให้สติปัญญาของ AI ไปไกลกว่าของมนุษย์  แต่การทำให้ AI มีความคิดและการตัดสินใจขั้นพื้นฐาน ที่เรียกว่า ‘สามัญสำนึก’ กลับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์ 

ปัจจุบัน AI ยังเป็นปัญญาประดิษฐ์ชนิดแคบ (Narrow AI) ที่มีความสามารถเฉพาะด้านเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า ถ้าเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น สุดท้าย AI จะอาศัยการทำงานของโครงข่ายประสาทเทียม เหมือนกับกระบวนการทำงานในสมองของมนุษย์สร้าง ‘สามัญสำนึก’ ขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ เช่น ยอนน์ เลอคุน ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัย Facebook AI Research เห็นว่าเป็นเรื่องยาก เพราะสมองมนุษย์มีความสลับซับซ้อนมาก 

 

การนำ ‘สามัญสำนึก’ มาใส่ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Commonsense Transformers) น่าจะง่ายกว่า เช่น โครงการ COMET ของสถาบันปัญญาประดิษฐ์อัลเลน ได้สร้างโครงข่ายประสาทเทียมที่สามารถเรียนรู้จากฐานความรู้ซึ่งจะกลายเป็นก้าวกระโดดในการสร้างกลไก AI- Common Sense หรือโครงการอเล็กซานเดรีย ของบริษัทไมโครซอฟต์ ที่รวมการอ่านด้วยเครื่อง การประมวลผลภาษาธรรมชาติ และคอมพิวเตอร์วิชั่นเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างฐานความรู้สามัญสำนึกสำหรับระบบ AI ในอนาคต ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคํญในการเปลี่ยนจาก Narrow AI ไปเป็นปัญญาประดิษฐ์  ที่คิดและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์ (Artificial General Intelligence) หรือ AGI 

 

อริสโตเติล และ โธมัส เพน อาจจะผิดหวังอยู่บ้าง ที่ยังมีมนุษย์บางคนไม่เลือกใช้ ‘สามัญสำนึก’ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อแสดงความอ่อนแอของตนออกมา แต่กลับเลือกใช้ “สามัญสำนึก’ เป็นป้อมปราการสนับสนุนการดำรงอยู่ ของชุดความเชื่อที่เป็นอคติและตัดขาดจากความจริงที่กำลังเกิดขึ้น และคงไม่คาดคิดว่าสุดท้ายกังหันลมแห่งกาลเวลา ได้คัดเลือกผู้ที่สามารถใช้ ‘สามัญสำนึก’ ในการตัดสินใจขั้นพื้นฐาน ได้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ ซึ่งก็คือระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่ปราศจากอคติที่มนุษย์นั่นเองเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา