“ซูซาน โบเวอร์แมน” ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการศึกษาและการฝึกอบรมโภชนาการระดับโลก เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น อธิบายแบบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ คือ อาหารที่เรารับประทานและวิถีชีวิตที่เราใช้ในการรักษาสุขภาพให้ดี เป็นสิ่งเดียวกันกับที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของระบบทางเดินอาหารให้ดีด้วยเช่นกัน การบริโภคอาหารที่มีกากใยอาหารสูง จำพวกผักผลไม้หลากสีสัน เมล็ดธัญพืช การรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ คือปัจจัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ต้องอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมถึงการเพิ่มแหล่งอาหารโพรไบโอติกหรือแบคทีเรียชนิดดีเข้าไปในมื้ออาหารประจำวันด้วย
อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนได้สัดส่วน ช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์ในร่างกาย รวมถึงเซลล์ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจะต้องจัดการให้ระบบทางเดินอาหารของเราได้รับอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ให้มาก รวมถึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
ไฟเบอร์ คือ ส่วนประกอบที่อยู่ในโครงสร้างของพืช พบได้ในผลไม้ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง ผัก ถั่ว เมล็ดธัญพืช อาทิ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ในวัยผู้ใหญ่ควรได้รับไฟเบอร์ในปริมาณ 30 กรัมต่อวัน แต่โดยเฉลี่ยพบว่า ผู้ใหญ่กลับได้รับไฟเบอร์เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ด้วยวิถีชีวิตที่มีภารกิจรัดตัว
ไฟเบอร์ต่างชนิด ให้ประโยชน์ต่อร่างกายต่างกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ควรจะต้องได้รับไฟเบอร์จากหลายแหล่ง ไฟเบอร์บางประเภท เช่น แอปเปิ้ล ส้ม มันฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ และถั่ว ช่วยให้รู้สึกท้องอิ่ม ในขณะที่ไฟเบอร์อีกประเภทที่พบในผักและธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี ช่วยในการลำเลียงอาหารไปยังลำไส้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยป้องกันการท้องผูก
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร เวลาที่เราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมีการบีบตัว การหายใจลึกขึ้น ส่งผลให้การบีบรัดตัวตามธรรมชาติของกล้ามเนื้อลำไส้ ได้รับการ
กระตุ้นไปด้วย ซึ่งช่วยในการส่งผ่านลำเลียงอาหารไปตามระบบ
การออกกำลังกายยังเป็นที่ยอมรับแพร่หลายว่า เป็นตัวช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลไปถึงการช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อันเนื่องมาจากสภาวะอารมณ์ด้านลบ ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะภายในกับสมองบอกเราว่า การรักษาความสมดุลของระบบทางเดินอาหารให้อยู่ในระดับดีเยี่ยมเป็นปัจจัยหลักสำคัญต่อการมีชีวิตที่ดี
ปิดท้าย แนะนำให้ใช้เวลาอิ่มอร่อยไปกับมื้ออาหาร ค่อยๆ รับประทานอาหารอย่างช้าๆ ซึ่งจะไม่ส่งผลให้ระบบร่างกายของเรารวน แต่ตรงกันข้าม มันจะทำให้เราไม่ทรมานไปกับอาการอาหารไม่ย่อย ที่เกิดจากการรับประทานที่เร่งรีบและมากเกินไป
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,707 วันที่ 22 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564