‘Homemade Stay’  สร้างสรรค์คุณค่า...  เปลี่ยนบ้านเก่า เป็นบูติคโฮเทล

21 ก.ย. 2564 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 16:44 น.

โรงสี ยุ้งฉาง อาคารร้าง โรงงานรองเท้า แม้ไม่อยู่ใจกลางเมือง แต่หากมีเรื่องราวและเอกลักษณ์ ถ้าคุณหาเจอ จะทำธุรกิจนี้ที่ไหนก็ได้...

“ขิง - วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์” สถาปนิก กูรูบูติคโฮเทล สถาปนิก และผู้ก่อตั้ง Homemade Stay ผู้มีไอเดียและความสามารถ เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล ให้ข้อคิด  ในการบรรยายพิเศษ “เปิดตำราทำธุรกิจโรงแรมที่พักอย่างสร้างสรรค์ โดยดัดแปลงจากอาคารเก่า” ของ อพท.หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
  ‘Homemade Stay’  สร้างสรรค์คุณค่า...  เปลี่ยนบ้านเก่า เป็นบูติคโฮเทล

“ขิง” เปรยว่า ประเทศไทยควรเป็นเมืองหลวงของโรงแรมขนาดเล็ก...ทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น?

ในฐานะสถาปนิก และกูรูบูติคโฮเทล เขาอธิบายแนวคิดนั้นว่า งานโรงแรมขนาดเล็ก หรือบูติคโฮเทล เป็นธุรกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากอาคารนั้นมีเรื่องราวและมีเอกลักษณ์ ก็สามารถสร้างสรรค์ ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปพักได้ จะทำเป็น “หนึ่งตำบลหนึ่งบูติคโฮเทล” ก็ยังไหว ต้นทุนไม่สูง ชาวบ้านก็ทำได้ ด้วยการนำประสบการณ์มาต่อยอด สร้างคุณค่าที่แตกต่าง ก็สามารถสร้างรายได้ ดึงให้คนรุ่นใหม่กลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิด แถมยังได้อนุรักษ์ และสร้างของเก่าให้มีคุณค่ามากขึ้น
  ‘Homemade Stay’  สร้างสรรค์คุณค่า...  เปลี่ยนบ้านเก่า เป็นบูติคโฮเทล

ทำไมสถาปนิกหนุ่มคนนี้ ถึงมองว่า โรงแรมขนาดเล็กเป็นที่ต้องการของตลาด เหตุเพราะนักท่องเที่ยวต้องการความเป็นส่วนตัว พร้อมๆ กับมองหาความแตกต่างที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบ ยิ่งมีเรื่องราว ก็ยังสามารถนำเรื่องราวนั้นมาทำมาร์เก็ตติ้งสร้างความน่าสนใจได้อีก 

ส่วนของผู้ลงทุน โรงแรมขนาดเล็ก ใช้ต้นทุนในการบริหารจัดการที่น้อยกว่าโรงแรมขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ตอนนี้กฤหมายก็เอให้ทำโรงแรมขนาดเล็กได้มากขึ้น โดยตั้งแต่ 2559 เริ่มข้อลดหย่อนมากมาย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่จอดรถ ที่เดิมกำหนดให้โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 30 ห้องขึ้นไปต้องมีที่จอดรถ ขณะนี้ได้ลดหย่อนลง โดยหากมีพื้นที่ Lobby หรือพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ไม่เกิน 300 ตร.ม. หรือโรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่ตามสภาพธรรมชาติที่ไม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปได้ ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างที่จอดรถ เช่น โรงแรมที่ต้องนั่งเรือเข้าไป ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างที่จอดรถ 
 หรือกฎหมายผังเมือง มีการแก้ไขเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่อื่นมากขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบผังเมืองใหม่ที่มีการอนุญาตให้ทำธุรกิจโรงแรมได้ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ www.dpt.go.th 
 

“ขิง” บอกว่า การสร้างโรงแรมขนาดเล็กในพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ยังช่วยให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ กระจายองค์ความรู้ และยังพัฒนาที่ดินให้มีคุณค่ามากขึ้น สร้างความภาคภูมิใจให้กับถิ่นกำเนิด อย่าง “เฮอริเทจ โฮเทล” ที่อุทัยธานี ซึ่งเป็นการดัดแปลงอาคารโรงเรียนเก่า มาสร้างเป็นโรงแรม ด้วยกันปรับแต่งรักษาของเดิมไว้ราว 80% จนกลายเป็นโรงแรมที่มีความสง่างาม ระดับ Timeless คือ โรงแรมนี้สามารถอยู่ไปได้อีกยาวโดยไม่เชย 

‘Homemade Stay’  สร้างสรรค์คุณค่า...  เปลี่ยนบ้านเก่า เป็นบูติคโฮเทล
อีกหนึ่งโรงแรมที่น่าสนใจ คือ VelaWarin เวฬาวาริน ที่อุบลราชธานี เป็นการดัดแปลงอาคารวินเทจ ปี 2483 ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟอุบลฯ ให้กลายเป็นโรงแรมที่แกรนด์ ทรงภูมิ และเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นอีสาน ที่มีความแซ่บ ห้องพักจะดูลึกลับ มีเสน่ห์ มีแสงเงาสลัวๆ น่าค้นหา มีความลึกลับของบรรยากาศ และยังมีส่วนของคาเฟ่ ในสไตล์ผับอังกฤษเก๋ๆ ที่คนผ่านไปผ่านมามักแวะมาใช้บริการรวมทั้งจัดอีเว้นท์เล็กๆ 
 นักสถาปนิกคนนี้ บอกว่า การทำงานเปลี่ยนอาคารเก่าให้เป็นบูติคโฮเทล ไม่ใช่งานอนุรักษ์โบราณสถาน อะไรที่ดีก็เก็บไว้ อะไรที่ไม่ได้ใช้ก็ปรับเปลี่ยน บาลานซ์ความเก่าและใหม่ให้ลงตัว และน่าสนใจ โดยคงเอกลักษณ์ของเรื่องราวไว้ พร้อมด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบครัน ทั้งห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุมสัมมนา เพียงแค่นี้ก็ดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ไม่ยากแล้ว 

‘Homemade Stay’  สร้างสรรค์คุณค่า...  เปลี่ยนบ้านเก่า เป็นบูติคโฮเทล

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,715 วันที่ 19 - 22 กันยายน พ.ศ. 2564