ในยุคที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การดูแลตนเองให้ดี เป็นพื้นฐานของการป้องกันตนเองให้พ้นจากการติดเชื้อที่ทำได้ง่าย โดยต้องเคร่งครัดและไม่ประมาท ขณะเดียวกันการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ ซึ่งหากทราบผลการทดสอบในเบื้องต้นว่าติดเชื้อ ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นวิธีที่เริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีทั้งการตรวจโดยใช้การเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ จากหลังโพรงจมูกด้านหน้า (nasal swab) และการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย (saliva) หากผลการทดสอบแสดงผลว่าติดเชื้อ ก็จะต้องมีการตรวจด้วย RT-PCR หรือ Real Time Polymerase Chain Reaction ต่อไป เพื่อเป็นการยืนยันผลการทดสอบ
ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การใช้น้ำลายเป็นตัวอย่างในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ โดยมีความแม่นยำเทียบเคียงกับวิธีการเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูก มีข้อดีคือใช้อุปกรณ์น้อย ไม่ระคายเคือง และเป็นวิธีการเก็บตัวอย่างที่สะดวกมาก สามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง จากผลการประเมินประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ด้วยตัวอย่างน้ำลาย ก็ได้ผลที่ไม่แตกต่างจากการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก อีกทั้งชุดตรวจยังได้มีการนำเทคโนโลยีนาโนคาร์บอนมาใช้ สามารถตรวจได้ในขั้นตอนเดียว ไม่ต้องใช้น้ำยาบัฟเฟอร์ จึงช่วยให้การตรวจทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
ข้อดีของการตรวจแบบเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย คือ ความสะดวกในการใช้งาน เพียงเก็บน้ำลายอย่างถูกวิธีและใช้ชุดตรวจจุ่มลงในภาชนะเก็บน้ำลาย จากนั้นรอผลประมาณ 15 นาที ก็สามารถรู้ผลได้ทันที ขณะที่การใช้ไม้ swab (สว็อบ) ในการตรวจด้วยตนเองนั้น จะต้องใส่ไปตามแนวของฐานจมูกตรง ๆ เข้าไปจนสุด แล้วจึงหมุนไม้ swab เบาๆ จากนั้นทิ้งไว้สักครู่จึงค่อย ๆ ดึงไม้ swab ออก ซึ่งถ้าตรวจไม่ถูกวิธี ก็จะรู้สึกกว่าใส่ไม้ swab ได้ไม่ลึก มักมีอาการเจ็บ และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในโพรงจมูก หรือเลือดกำเดาไหลได้ และทำให้ผลที่ได้จากการตรวจอาจคลาดเคลื่อน
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดมาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องสงสัยจำนวนมาก ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการทำวิจัยเปรียบเทียบในการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่าง การเก็บตัวอย่างจากการเก็บเชื้อจากโพรงจมูกและเก็บเชื้อจากลำคอ ร่วมกับการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย เพื่อนำมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งจากผลการวิจัยสรุปได้ว่า ตัวอย่างที่เก็บจากน้ำลาย จากโพรงจมูก และลำคอให้ผลที่ใกล้เคียงกัน
ดร.เอกวัฒน์ กล่าวว่า การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายมีข้อดีคือ ผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง ลดการแพร่กระจายเชื้อจากตัวผู้ป่วยไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปกติแล้วในการเก็บตัวอย่างทั้งจากที่โพรงจมูกและลำคอ ผู้เก็บตัวอย่างที่เป็นแพทย์หรือพยาบาลจะต้องใส่เครื่องป้องกันที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงในการเก็บตัวอย่าง ดังนั้น การเก็บตัวอย่างด้วยน้ำลาย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง เก็บได้ง่าย สะดวก จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องป้องกันได้อีกด้วย