‘ฟาสต์ รีเทลลิ่ง’ สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ ‘LifeWear’

11 ธ.ค. 2564 | 05:54 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2564 | 14:50 น.

ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ประกาศแผนปฏิบัติการความยั่งยืนภายในปี 2030 สร้าง LifeWear เพื่อเป็นนิยามใหม่และเร่งการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ สร้างการเติบโตในระยะยาว

“โคจิ ยาไน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสของ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ผู้บริหารแบรนด์ยูนิโคล่ กล่าวว่า บริษัทกำลังพัฒนาแนวคิดไลฟ์แวร์ (LifeWear) เพื่อเป้าหมายการเป็น “เสื้อผ้าที่ดี” ในชีวิตประจำวัน ที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ การออกแบบ และราคา และยังต้องดีกับ สิ่งแวดล้อม ผู้คน และสังคม

‘ฟาสต์ รีเทลลิ่ง’ สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ ‘LifeWear’

พร้อมนำโครงการ Ariake มาเป็นส่วนผลักดันการผลิตและขายเครื่องแต่งกายที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง 

 


 เป้าหมายและแผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืนในปีงบประมาณ 2030 ของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ได้นำเป้าหมายจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) มาใช้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 90% ภายในปีงบประมาณ 2030 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2019

‘ฟาสต์ รีเทลลิ่ง’ สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ ‘LifeWear’

ลดการใช้ไฟฟ้าที่หน้าร้านผ่านโครงการประหยัดพลังงานต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะประหยัดได้ประมาณ 40% ที่หน้าร้านโรดไซด์และลดลง 20% สำหรับร้านค้าในห้าง

ที่ผ่านมา ร้านยูนิโคล่ 8 แห่งในญี่ปุ่นได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED แล้ว ซึ่งบริษัทจะเร่งพัฒนารูปแบบร้านที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น 
โดยจะเปิดตัวในปี 2023 พร้อมทั้งเปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าในร้านของ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง และสำนักงานใหญ่ทั่วโลกมาใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในปีงบประมาณ 2030 ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2021 ร้านยูนิโคล่ จำนวน 64 แห่งใน 9 ประเทศในยุโรปได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน และภายในสิ้นปี 2021 ทุกๆ ร้านในอเมริกาเหนือและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะเปลี่ยน เช่นกัน
 

‘ฟาสต์ รีเทลลิ่ง’ สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ ‘LifeWear’

ส่วนการผลิตและจำหน่าย จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2030 (เมื่อเทียบกับปี 2019) พร้อมทั้งจัดตั้งกระบวนการและโครงสร้างสำหรับพนักงานจากส่วนงานผลิตและความยั่งยืน 150 คน ทำหน้าที่ดูแลและบริหารโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 

 

เป้าหมายสำหรับผลิตภัณฑ์ จะเพิ่มสัดส่วน 50% ของวัสดุที่ใช้ในยูนิโคล่ เป็นวัสดุรีไซเคิลภายในปีงบประมาณ 2030 และยูนิโคล่ยังเดินหน้านำวัสดุอื่นๆ ที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงมาใช้เพิ่ม รวมทั้งใช้แนวคิด “ขยะเป็นศูนย์” (Zero Waste) ตั้งแต่ต้นกระบวนการด้วยการลดการใช้งาน การเปลี่ยนวัสดุ การนำมาใช้ใหม่ และการใช้วัสดุรีไซเคิลในกระบวนการส่งมอบเสื้อผ้าให้แก่ลูกค้า


ในด้านสังคม ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ต้องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่สามารถปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชนของทุกๆ คน รวมถึง พนักงานของบริษัทและผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมด ด้วยเป้าหมายการสร้างสังคมที่ดียิ่งขึ้นร่วมกับลูกค้า เพื่อสร้างความโปร่งใสและการติดตามกลับในกระบวนการผลิต 

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564