ปี2565 นี้ ใครยังไม่รู้ว่าจะไปเคาท์ดาวน์ที่ไหนหรือจะไปเที่ยวพักผ่อนหนีโควิด-19และโอมิครอนที่ไหนดี “ฐาน ละ มู” นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวแนวชิคๆอิงวิถีชุมชนให้ได้ชมกัน รับรองว่าไม่ผิดหวังแถมยังเป็นการช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้สร้างงานสร้างอาชีพให้ก้าวหน้าเติบโตอย่างแข็งแรงอีกด้วย
โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย เป็นโครงการที่กรมการค้าภายในได้พัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560โดย มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน เพื่อให้การประกอบธุรกิจมีประสิทธิภาพ สามารถดำรงธุรกิจของชุมชนได้อย่างมั่นคง ชุมชนเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง อยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง และลดการย้ายถิ่นฐานจากชุมชนเข้าสู่เมือง
โดยมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 25 แห่ง และได้ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเป็น “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่” เพิ่มอีกจำนวน 7 แห่ง ได้แก่
โดยทุกที่มีความพร้อมที่ก้าวไปสู่เป้าหมายของ “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่” ที่ประสบผลสำเร็จและเป็นแรงสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน
สำหรับ “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง” ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับมใครหลายคนที่เคยมาเยี่ยนบ้างแล้ว วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ทำงานภายใต้แนวคิดการกระจายรายได้ ร่มบ่อสร้าง 1 คัน สร้างรายได้ทางตรงจากการทำร่ม ให้กับชาวบ้านถึง 2 อำเภอ คือ อำเภอสันกำแพง และ อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบและแหล่งช่างฝีมือในการทำร่ม ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 200 ปี
จากอดีตจนปัจจุบัน ได้แก่ กระดาษสา ทำที่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง ด้ามร่ม ทำที่บ้านเหล่า, บ้านออน อำเภอสันกำแพง และบ้านแม่ฮ้อยเงิน อำเภอดอยสะเก็ด ซี่ร่มและโครงร่ม ทำที่บ้านสันต้นแหน อำเภอดอยสะเก็ด และนำมาประกอบกันปิดกระดาษร่ม (หุ้มร่ม) ลงสี ที่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง
โดย กรมการค้าภายในได้เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ โดยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาคอลเลคชั่นสินค้าใหม่ให้โดดเด่นจากงานร่มและพัดบ่อสร้าง ในแบบดั้งเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ มาตรฐาน เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของร่มบ่อสร้าง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ถือเป็นเครื่องหมายการันตีภูมิปัญญาของชาวอำเภอดอยสะเก็ดและอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้นำลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าท้องถิ่น
นางสาว บุษกร ชยาทิตย์ ดีไซน์เนอร์ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ “มองดอกไม้บายบุษกร” มาออกแบบคอลเลคชั่นใหม่ ประเภทร่มและพัดเป็นซีรี่ย์ชุด “งามดอกไม้เมือง” คือการเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันลงบน “ร่มบ่อสร้าง” หนึ่งในงานหัตถศิลป์ ที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของชาวล้านนา สู่มุมมองใหม่ที่ร่วมสมัย ด้วยการนำดอกไม้ 3 ชนิด ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาของคนล้านนา มาแต่งแต้มบนผลิตภัณฑ์
ผ่านเทคนิคการปัก ถัก และการเพ้นท์ ได้แก่ ดอกซอมพอ หรือ ดอกหางนกยูงไทย ที่มีรูปโฉมคล้ายผีเสื้อหลายๆ ตัวเกาะไล่เรียงเป็นช่อมีความหมายเกี่ยวกับวิถีของการทำบุญและการปฏิบัติตนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ดอกเก็ตถะหวา หรือ ดอกพุดซ้อน ที่ชาวล้านนาถือว่าเป็นหนึ่งในพญาดอกไม้ และ ดอกตะล่อม หรือ ดอกบานไม่รู้โรย ที่ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นดอกไม้มงคล ที่หมายถึงการประคับประคองให้ชีวิตราบรื่น ร่มเย็น มีความสุข
ปีใหม่นี้ใครยังคิดไม่ออกว่าจะไปที่ไหนดี “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง” ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ น่าจะเป็นสถานที่กินลม ชมวิว เที่ยวปักหมุดของใครหลายคนท่ามกลางอากาศที่แสนเย็นสบายเช่นนี้