นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการกำหนดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2565 จำนวน 1,000 คน และเตรียมขยายการมีงานทำให้คนพิการฯ มีงานและรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 20% ภายใน 4 ปี
ขณะนี้ สถานประกอบการภาคเอกชน จำนวน 181 แห่ง อาทิ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ บมจ.แคล- คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) สาขาเพชรบุรีและสาขาสมุทรสาคร กลุ่มบริษัท อเด็กโก้ ประเทศไทย และบริษัทรักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการส่งเสริมจ้างงานคนพิการเชิงสังคมในปีนี้ ถึง 1,400 คน เพิ่มจากเป้าหมาย 40% ก่อให้เกิดรายได้ 159,943,425 บาทต่อปี
การขับเคลื่อนประเทศอย่าง "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกระทรวงแรงงาน สนองต่อนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
โดยเน้นสร้างโอกาสแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานจัดทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ เพื่อเชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ให้ดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน มีภารกิจในการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ต้องการมีงานทำทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ผู้พ้นโทษ และคนพิการ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 การส่งเสริมให้กลุ่มคนพิการที่มีทั้งศักยภาพ และความต้องการที่จะทำงานเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งกรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานลงพื้นที่โน้มน้าวนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 34 ในการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปลี่ยนมาให้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภท จ้างเหมาบริการ เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ และได้รับรายได้จากการทำงานโดยตรง
ขณะนี้มีผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 1,400 คน ส่วนใหญ่ เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย การได้ยินหรือสื่อความหมาย ทางสติปัญญา ทางการมองเห็น และทางการเรียนรู้ ตามลำดับ ทำงานในตำแหน่ง พนักงานธุรการทั่วไป พนักงานทำความสะอาด คนสวน เป็นต้น โดยหน่วยบริการสาธารณะ 3 อันดับแรกที่มีความพร้อมรับคนพิการเข้าปฏิบัติงาน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และโรงเรียน ตามลำดับ