เทียบประสิทธิผล "โมเดอร์น่า - ไฟเซอร์" วัคซีนตัวไหนป้องกันโควิดดีกว่ากัน

31 ม.ค. 2565 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2565 | 14:04 น.

กาตาร์ เผยผลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีน mRNA-1273 หรือ โมเดอร์น่า และ วัคซีน BNT162B2 หรือไฟเซอร์ ฉีดครบ 2 เข็ม โมเดอร์น่า มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าไฟเซอร์ และติดเชื้อต่ำกว่าไฟเซอร์ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงาน วารสาร New England Journal of Medicine (วันที่ 19 มกราคม 2565) แสดงผลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากการฉีดวัคซีนโมเดอร์น่า และวัคซีนไฟเซอร์ ในประเทศกาตาร์ โดยทำการประเมินอุบัติการณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากการได้รับวัคซีนโมเดอร์น่า และวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2563 - 20 ตุลาคม 2564

 

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์น่า ครบ 2 เข็ม จำนวน 192,123 ราย มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 878 ราย มีเพียง 3 รายที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ไม่พบรายที่รุนแรงขั้นวิกฤติหรือนำไปสู่การเสียชีวิต ส่วนในกลุ่มของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ครบ 2 เข็ม จำนวน 192,123 ราย มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 1,262 ราย มี 7 รายที่มีอาการรุนแรง และ 1 รายที่เสียชีวิต โดยการติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับวัคซีนครบแล้วทั้งสองกลุ่มจะมีความสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

จากการติดตามผลหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วเป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์น่า มีอุบัติการณ์สะสมของการติดเชื้ออยู่ที่ 0.59% ส่วนกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีอุบัติการณ์สะสมของการติดเชื้อภายหลังจากได้วัคซีนนั้นสูงกว่า อยู่ที่ 0.84% (ดังแสดงในกราฟ วัคซีนโมเดอร์น่า เส้นสีน้ำเงิน และวัคซีนไฟเซอร์ เส้นสีแดง) 

เทียบประสิทธิผล \"โมเดอร์น่า - ไฟเซอร์\" วัคซีนตัวไหนป้องกันโควิดดีกว่ากัน

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ในกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์น่า จะพบอุบัติการณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 และการติดเชื้อชนิดที่รุนแรงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ โดยความแตกต่างของวัคซีนทั้งสองนี้จะเริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่ได้รับวัคซีนเข็มแรกผ่านไปแล้วสามสัปดาห์

โดยสรุปแล้ว วัคซีนโมเดอร์น่า จะพบอุบัติการณ์การของการติดเชื้อภายหลังการได้รับวัคซีนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีน ไฟเซอร์  ซึ่งมีความสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าที่แสดงถึงระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งสอง

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

Abu-Raddad, Laith J et al. “Effectiveness of mRNA-1273 and BNT162b2 Vaccines in Qatar.” The New England journal of medicine, 10.1056/NEJMc2117933. 19 Jan. 2022, doi:10.1056/NEJMc2117933