ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า “โอมากาเสะ” คืออะไร ทำไมต้องแพง และทำไมต้องจ่าย
ข้อมูลจาก Michelin Guide ระบุว่า โอมากาเสะเรียกได้ว่าเป็นอาหารที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ โดยจะเปลี่ยนไปตามแต่ละโอกาส โดยเชฟจะเป็นผู้ตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวว่าจะปรุงอะไรระหว่างคอร์สนั้นๆ หากแปลตามคำศัพท์ “โอมากาเสะ” ก็คือ “ตามใจเชฟ”
เรื่องราวของ “โอมากาเสะ” จากการสืบค้นทำให้รู้ว่า โอมากาเสะ เป็นการให้บริการอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก แต่แม้ไม่ใช่วัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดมานานนับร้อยปีเหมือนประเพณีการรับประทานแบบดั้งเดิมอย่างข้าวแกงกระหรี่ แต่ก็เป็นวัฒนธรรมการกินอันล้ำค่าของญี่ปุ่น ที่เปี่ยมไปด้วยศิลปะและความสง่างาม
จุดเริ่มต้นของ “โอมากาเสะ” มาจากร้านซูชิ ที่มักจะมีราคาสูง ผู้ที่ไปกินซูชิได้ต้องมีทั้งเงินและความรู้ในเรื่องปลา นับจากปี 1900 เมื่อเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นมีการเติบโต ผู้คนมีกำลังทรัพย์มากขึ้นจนสามารถกินซูชิระดับไฮเอนด์ได้ แต่สิ่งที่พบคือ ไม่มีความรู้เรื่องปลา หรืออาหารที่รับประทาน เลยต้องใช้วิธีสั่งให้พ่อครัวทำโดยไม่เอ่ยชื่อปลาโดยเฉพาะเจาะจง การกินแบบ “โอมากาเสะ” จึงถือกำเนิดขึ้นมานับตั้งแต่นั้น
“โอมากาเสะ” เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะผู้ทานจะได้รับประทานอาหารโดยไม่ที่ไม่รู้ว่าจะได้ทานอะไร รสชาติเป็นอย่างไร แต่จะได้เห็นการทำของเชฟที่พิธีพิถัน บรรจงรังสรรค์ แต้มแต่งเมนูแต่ละจาน ออกมาให้รับประทาน ซึ่งแม้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การได้โต้ตอบ พูดคุยกันระหว่างเชฟและผู้ทาน รวมถึงผู้ทานด้วยกันเอง กลับทำให้ช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน หายไปทันที
จุดเด่นของ “โอมากาเสะ” อยู่ที่ “วัตถุดิบ” ที่เชฟจะต้องแจ้งต่อลูกค้าว่า วันนี้วัตถุดิบหลักคืออะไร แต่หัวใจสำคัญจะอยู่ที่วัตถุดิบเหล่านี้ต้องสดใหม่ การปรุงแต่งต้องเข้าถึง และลงตัว จากจุดเริ่มต้นที่โอมากาเสะ มาจากวัตถุดิบ “ปลา” วันนี้ วัตถุดิบเริ่มหลากหลาย มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “เนื้อวากิว” “เนื้อโกเบ” “ปูอลาสก้า” “กุ้ง”
วันนี้ “โอมากาเสะ” เริ่มแพร่หลายเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา รวมถึงประเทศไทยเอง ที่เข้ามาเปิดให้บริการนานนับ 10 ปี แต่ส่วนใหญ่ยังให้บริการตามโรงแรมระดับ 4-5 ดาว และยังจำกัดในกลุ่มผู้ทานที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการกินแบบ “ตามใจเชฟ”
ด้วยบริการที่เปรียบเสมือนการให้บริการเฉพาะบุคคล และการคัดสรรวัตถุดิบที่สดใหม่ ทำให้ “โอมากาเสะ” ถูกจำกัดด้วยปริมาณผู้รับประทาน รวมถึงราคาที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารญี่ปุ่นประเภทอื่นๆ ว่ากันว่า ในโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว สนนราคาหลักหมื่นบาทต่อหัว ขณะที่วันนี้มีผู้นำไอเดีย “โอมากาเสะ” มาปรับเพื่อให้บริการที่หลากหลาย และกระจายสู่มากขึ้น ทำให้สนนราคาเปลี่ยนแปลงไปตามทำเล กลุ่มเป้าหมายและคอนเซปท์ที่วางไว้ สนนราคามีตั้งแต่ระดับ 1,000 บาทขึ้นไป
ขณะที่ผู้ทานคนไทยบางกลุ่มยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการไม่ทานเนื้อ ไม่ทานผัก ไม่ทานเครื่องเทศ รวมถึงบางคนหวาดกลัวกับการแพ้อาหาร เครื่องปรุง แต่ก็ไม่สามารถเลือกที่จะไม่ทานไม่ได้ เพราะเมนูเหล่านี้ถูกจัดขึ้นแบบ “ตามใจเชฟ”
“โอมากาเสะ” ในเมืองไทยวันนี้ หลากหลายและถูกดัดแปลงไปให้บริการไม่ใช่เฉพาะอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีทั้งอาหารไทย อาหารจีน และเชื่อว่า หลังกระแสดราม่า “โอมากาเสะ” ในครั้งนี้ ทำให้หลายคนอยากลิ้มรสอาหารสไตล์ “โอมากาเสะ” เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน