ซีพีเอฟ CONNEXT ED สนับสนุนทุนเติมทักษะน้องๆ ผลิตอาหารปลอดภัย

22 ก.พ. 2565 | 06:46 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 14:08 น.

มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ซีพีเอฟ สนับสนุนงบประมาณ "ศูนย์การเรียนรู้ผักออร์แกนิค" โรงเรียนบ้านเสลี่ยงทอง จังหวัดชัยภูมิ ส่งต่อองค์ความรู้ปลูกผักปลอดสารเคมีเยาวชน

คุณครูสุพจน์ สิทธิ์ขุนทด คุณครูที่รับผิดชอบ "โครงการศูนย์การเรียนรู้ผักออร์แกนิค(เสลี่ยงทองออร์แกนิค)" เล่าที่มาของการทำโครงการปลูกผักปลอดสารเคมีว่า ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ปลูกผักสวนครัว จำเป็นต้องใช้สารเคมี เพื่อช่วยให้ได้ผลผลิต  ทางโรงเรียน ฯ มองถึงความปลอดภัยของอาหารที่เด็กๆ และคนในชุมชนบริโภค จึงทำแผนเสนอของบประมาณสนับสนุนโครงการจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการคอนเน็กซ์อีดี  (CONNEXT ED) ของซีพีเอฟ เพื่อทำโครงการศูนย์การเรียนรู้ผักออร์แกนิค (เสลี่ยงทองออร์แกนิค) ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยธรรมชาติในดิน

ซีพีเอฟ CONNEXT ED สนับสนุนทุนเติมทักษะน้องๆ ผลิตอาหารปลอดภัย

โดยมีการสำรวจความต้องการของชุมชนก่อนที่จะเลือกพืชและลงแปลงปลูก หลังจากที่พบว่าชุมชนต้องการบริโภคผัก 5 ชนิด คือ ผักกาดขาว  ผักกาดหอม ผักชี ต้นหอม และกรีนโอ๊ค ทางโรงเรียนจึงได้จัดสรรพื้นที่ในโรงเรียนประมาณ  2 งาน เพื่อปลูกผักแบ่งเป็น  2 โรงเรือน และสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1- ป.6 โดยโรงเรือนแรกให้นักเรียน ป.1-ป.3 ร่วมกันดูแลผักที่ปลูกและดูแลง่าย เช่น  ต้นหอม ผักชี และอีกโรงเรือนให้นักเรียนชั้น ป.4- ป.6 ช่วยกันดูแล เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหอม กรีนโอ๊ค   

โรงเรียนฯ ได้บรรจุกิจกรรมโครงการปลูกผักปลอดสารพิษไว้ในคาบเรียนทักษะชีวิต ซึ่งเป็นชั่วโมงสุดท้ายของคาบเรียนทุกวัน เพื่อให้เด็กๆ ได้ลงมือปฎิบัติจริงและสามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เพราะหลายๆ บ้านที่ผู้ปกครองมีการปลูกผักไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนอยู่แล้ว หลังจากที่โรงเรียนฯได้รับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อทำโครงการนี้  

ซีพีเอฟ CONNEXT ED สนับสนุนทุนเติมทักษะน้องๆ ผลิตอาหารปลอดภัย

ปัจจุบัน ลงแปลงปลูกผักรอบแรกไปแล้ว เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รอผลผลิตรอบแรกโตเต็มที่ จะเก็บผลผลิตส่วนหนึ่งจำหน่ายให้โครงการอาหารกลางวัน  เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้นักเรียน ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้ชุมชน จำหน่ายที่ตลาดชุมชนหลังจากที่นักเรียนเลิกเรียน และขายผ่านออนไลน์ผ่านเพจ Facebook โรงเรียน

จากการสอบถามนักเรียนจิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ "ด.ญ.แพรไพลิน โพธิ์นอก"  หรือ น้องไพลิน อายุ 12 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นป. 6  จิตอาสาวัยเยาว์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ บอกว่า สนใจเข้าร่วมเป็นอาสาช่วยคุณครู เพราะเห็นว่าเป็นโครงการใหม่ที่โรงเรียนไม่เคยทำมาก่อน และเป็นคนที่ชอบรับประทานผักอยู่แล้ว และที่บ้านปลูกต้นหอมไว้รับประทานเอง  เธอได้ความรู้เรื่องการผสมดินที่ส่วนผสมทั้งดินก้ามปู ดินไส้เดือน และดินร่วนทั่วไป ช่วยให้ผักได้ผลผลิตที่เติบโตดี และยังนำเทคนิคนี้ไปบอกผู้ปกครองที่บ้าน     
   
นอกจากนี้ ด.ญ ธิชานันท์ ทองวิเศษ หรือ น้องการ์ตูน เพื่อนร่วมชั้นเรียนน้องไพลิน มีการนำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อผู้ปกครอง และนำความรู้จากทางบ้านมาแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดประโยชน์ในการทำโครงการอย่างเต็มที่ ในขณะที่ ด.ญ. ปรายฟ้า อาบสุวรรณ์ หรือ น้องกวาง บอกว่า นักเรียนและผู้ปกครองได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย บริโภคผักที่ปลอดสารพิษ และได้เรียนรู้ภาวะผู้นำ รวมถึงการทำงานเป็นทีม และผลผลิตส่วนหนึ่งยังนำไปขายสร้างรายได้อีกด้วย                
     
นางสมพิศ วิสิทธิ์ ครูรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ รร.บ้านเสลี่ยงทอง กล่าวว่า โรงเรียนฯคาดหวังว่าโครงการนี้  นอกจากเด็กๆ ได้เรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ นำความรู้ไปแนะนำผู้ปกครอง เพื่อปรับทัศนคติจากที่ยังมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก และที่สำคัญ คือ เป็นการผลิตอาหารปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน ขณะที่การสำรวจความต้องการของผู้บริโภคก่อนการทำโครงการ ทำให้สามารถวางแผนในการเพาะปลูกได้ง่าย ลดปัญหาการตลาด          
       
ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี  (CONNEXT ED) ซึ่งปัจจุบัน ดูแลโรงเรียน CONNEXT ED จำนวน  301  แห่งทั่วประเทศ  ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ  นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระบุรี  ผ่านการทำหน้าที่ของ School Partner ของซีพีเอฟ 65 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยให้คำแนะนำแก่โรงเรียนในการพัฒนาโครงการต่างๆ  และเป็นเพื่อนคู่คิด คอยช่วยเหลือและสนับสนุน  ในการวางแผนการทำงานร่วมกับโรงเรียน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านหลัก คือ 1. การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส 2. กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน 4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ และ 5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา