นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากแนวทางวางแผนบริหารจัดการโรคโควิด -19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนกว่า 95% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ต่างจากสายพันธุ์เดลตา ที่ผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นสีเหลืองได้มาก แต่สายพันธุ์โอมิครอนเบื้องต้นพบว่าอาการเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง น้อยกว่า 1% ซึ่งหากผู้ป่วยที่แยกกักที่บ้านมีอาการเพิ่มขึ้นก็สามารถติดต่อกลับมาโรงพยาบาลได้ เพราะมีการลงทะเบียนไว้แล้ว
ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 สามารถตรวจ ATK ด้วยตนเองที่บ้าน หรือมาตรวจที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ซึ่งมีในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หากพบผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาความเสี่ยงและโรคประจำตัว หากไม่มีความเสี่ยงจะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกและกลับไปแยกกักตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ
โดยได้รับยาตามระดับอาการ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยาตามอาการ เช่น ลดไข้ แก้ไอ เจ็บคอ ขับเสมหะ เป็นต้น, ยาฟ้าทะลายโจร และยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ และจะติดตามอาการหลังครบ 48 ชั่วโมง เรียกว่า เจอ-แจก-จบ หมายถึง เมื่อเจอว่าติดเชื้อ จะแจกยา แจกเอกสารให้ความรู้การกักตัวเองที่บ้าน (Self Isolation) ข้อแนะนำการรับประทานยาและผลข้างเคียง และจบด้วยการลงทะเบียนอยู่ในระบบบริการหรือรับไว้ดูแลแบบครบวงจร
สำหรับการจัดบริการของโรงพยาบาลราชวิถี มีระบบอย่างดีไม่ให้เกิดความแออัด เมื่อผู้ติดเชื้อสมัครใจเข้ารับการดูแลแบบผู้ป่วยนอก จะส่งไปยังศูนย์ HI/CI ของโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนรับการติดตามอาการ พร้อมให้คิวอาร์โคดไปรับยาผ่านตู้จ่ายยาอัตโนมัติเพื่อลดการสัมผัส
ผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว สามารถโทรสายด่วน 1330 หรือเบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาล เพื่อรับการประเมินดูแลได้ แต่หากมีความจำเป็นหรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงและต้องการเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาล ขอให้ยึดหลักป้องกันตนเอง (Universal Prevention) โดยใส่หน้ากากตลอดเวลา หากมีอาการป่วยอาจใส่ 2 ชั้นเพื่อเพิ่มการป้องกัน รักษาระยะห่างจากคนอื่น ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับทุกคนไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. โรงพยาบาลทุกสังกัดมีคลินิกโรคทางเดินหายใจเช่นกัน หากผล ATK เป็นบวก ขอให้โทรสายด่วน 1330 หรือเบอร์โทรศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในเขตที่ตนอาศัยก่อน เพื่อรับบริการให้คำปรึกษาและขึ้นทะเบียนรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล และได้ประสานกับเลขาธิการ สปสช. ในการนำระบบ Auto Screening มาช่วยคัดกรองอาการ ทั้งนี้ บริการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ได้นำมาใช้ทดแทนระบบ HI/CI แต่เป็นบริการเสริมหรือทางเลือกสำหรับผู้ติดเชื้อที่สบายดี ไม่มีอาการ ไม่มีภาวะเสี่ยง และสมัครใจรักษาที่บ้าน ช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องติดตามอาการทุกวัน
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า คลินิกโรคทางเดินหายใจ โรงพยาบาลราชวิถี มีผู้ป่วยมารับบริการวันละ 150-250 ราย ส่วนใหญ่มีอาการของระบบทางเดินหายใจและสงสัยโควิด -19 ซึ่งตรวจพบประมาณ 60-70% และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและคัดกรองความเสี่ยงอื่นๆ เพื่อจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มและจ่ายยาตามการประเมินของแพทย์