คนที่ถูกขโมยผลงาน เคลมไอเดียไป คงจะเจ็บใจไม่น้อย ถ้าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับคุณ บอกได้เลยว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่เจอ เพราะจากผลสำรวจของ OfficeTeam หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร ได้ทำการสำรวจความเห็นจากชาวออฟฟิศจำนวน 444 คน พบว่า กว่า 29% เคยโดนเคลมผลงานหรือไอเดีย
แต่ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือ 51% ของคนที่โดน ขโมยผลงาน เลือกที่จะไม่ตอบโต้ ไม่ทำอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และไม่อยากมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน แต่ถึงประเด็นนี้จะ sensitive เพียงใด เราก็ยังขอสนับสนุนให้คุณจัดการกับการโดยขโมยผลงานนี้อยู่ดี
จากบทความ Make Your Enemies Your Allies เขียนโดย Brian Uzzi อาจารย์ประจำ Business school ชื่อดังอย่าง The Kellogg School of Management ได้เขียนบทความนี้ตีพิมพ์ลงนิตยสารธุรกิจ Harvard business review โดยมีคำแนะนำสำหรับคนที่โดนขโมยผลงานหรือไอเดียในที่ทำงานว่า
จะจัดการกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไรดี ให้ผลลัพธ์ออกมาราบรื่น แบบนี้คุณเองก็สามารถทวงคืนเครดิตของคุณได้โดยที่ไม่ทำให้เกิดสถานการณ์แย่ ๆ ในออฟฟิศด้วย
ทันทีที่ถูกขโมยผลงาน คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกโกรธแทบจะในทันที ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หลายคนอาจจะเลือกวิธีเข้าไปคุยเลยทันทีทั้ง ๆ ที่ยังมีอารมณ์อยู่ แต่คุณ Uzzi เสนอให้คุณเลือกที่จะทำใจให้นิ่ง รอให้อารมณ์ของคุณเย็นลงก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร เหมือนเป็นการถอยมาตั้งหลักสักนิด ก่อนที่จะวางแผนต่อว่าจะเดินเกมทวงคืนผลงานนี้อย่างไรดี
แทนที่จะเข้าไปกล่าวหาแบบตรง ๆ ว่า “ทำไมต้องมาขโมยไอเดียเราไป” ลองเปลี่ยนเป็นการตั้งคำถามแบบฝากไว้ให้อีกฝ่ายคิด เช่น “รู้สึกยังไง เวลาที่มีใครมาขโมยผลงานไปโดยไม่บอกกล่าว” หรือ “หัวหน้ามีคำแนะนำมั้ยคะ ถ้าถูกคนอื่นขโมยไอเดียไป” นี่เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สามารถใช้เริ่มต้นการเจรจาได้ แต่ขอให้ไปพูดตอนใจเย็น ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ด้วยนะ แต่ถ้าถามอ้อม ๆ แล้วก็ยังไม่ได้ผล จะลองถามตรง ๆ ไปเลยก็ได้ เป็นการแจ้งให้ทราบว่า คุณไม่โอเคกับสิ่งนี้
ส่วนใหญ่เราจะโดนขโมยไอเดียก็ตอนพรีเซนต์งานหรือตอนประชุม ซึ่งถ้าคุณไม่ใช่คนที่ขึ้นพูด คุณก็จะโดนขโมยผลงานไปได้ง่าย ลองแก้ด้วยการหาพันธมิตรในที่ทำงาน แล้วลองเปรย ๆ ระหว่างทำโปรเจคว่าคุณทำงานหนักมาก ทีมคุณก็เตรียมตัวมาอย่างดี พร้อมเสนอให้พันธมิตรของคุณลองถามคำถามในที่ประชุมเพื่อที่เขาจะได้ดูมีส่วนร่วมด้วย เช่น วิธีคิดประเด็นและไอเดียของโปรเจคนี้คืออะไร เพราะคำถามนี้มีแต่เจ้าของไอเดียเท่านั้นที่จะตอบได้แบบตรงประเด็น
ถ้าคุณพอมีสกิลการพรีเซนต์ ก็ขอให้คุณเลือกที่จะเป็นคนพรีเซนต์ผลงานเสียเอง แต่ถ้าไม่ถนัด ลองเสนอตัวเป็นคนทำสไลด์ก็ได้ และใส่ end credit ในช่วงท้ายของสไลด์ว่าใครทำอะไรตรงไหนบ้าง ก็จะเป็นการป้องกันการถูกขโมยผลงานของทั้งคุณและคนในทีมได้ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาระหว่าการทำโปรเจค คุณควรจดบันทึกการประชุมทุกครั้งให้ชัดเจน เพื่อจะได้มีหลักฐานใช้ยืนยันการทำงานและที่มาของไอเดียต่าง ๆ ได้
คอยสังเกตพฤติกรรมของหัวขโมยไปเรื่อยๆ ถ้ายังมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอยู่อีก แม้ว่าคุณจะได้เข้าไปถามตรงๆ แล้ว อาจจะลองแจ้งหัวหน้าให้รับทราบถึงพฤติกรรมเหล่านี้ หรือถ้าคนที่ขโมยผลงานของคุณเป็นหัวหน้าเสียเอง ก็ลองปรึกษากับหัวหน้าที่เป็นใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นดู เผื่อมีทางออกที่ดีกว่าเดิม