ยก "ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

17 มิ.ย. 2565 | 07:27 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 14:47 น.

การท่องเที่ยวแห่งชาติ ไฟเขียวประกาศ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นพื้นที่พิเศษการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชูต้นแบบเชิงนิเวศและวัฒนธรรม เตรียมผลักดันแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพแตะ 8 ล้านคน โกยรายได้กว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. เห็นชอบการประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอ ซึ่งจะครอบคลุม 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ได้แก่

ยก \"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา\" ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ (อำเภอเมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง และบางกล่ำ) จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ (อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสนและควนขนุน) และจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ (อำเภอชะอวด และหัวไทร) รวมเนื้อที่ประมาณ 5,553.260 ตารางกิโลเมตร

  • ปกป้อง “ลากูน” หนึ่งเดียวของไทย 

จุดเด่นของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบแบบ “ลากูน” หนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน 117 แห่งทั่วโลก เป็นพื้นที่มีศักยภาพ มีคุณค่าและความโดดเด่นทั้ง 3 ด้าน คือ ทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่สามารถพัฒนาและต่อยอดเชิงสร้างสรรค์เพื่อพลิกฟื้นรูปแบบการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง มีเอกลักษณ์ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันพบประเด็นปัญหาของแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมไม่ได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐาน มีการบุกรุกทำลาย

ยก \"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา\" ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เสี่ยงที่จะสูญหาย ไม่ได้รับการสืบทอด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่องของนโยบายหรือแผนงานด้านการท่องเที่ยว การพัฒนากระจุกตัวจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำ สินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวไม่ได้รับการพัฒนาให้เกิดเป็นรายได้

  • ท่องเที่ยวกระจายรายได้

การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ จะทำให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน เกิดการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้ อพท. จัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเสนอต่อที่ประชุม ท.ท.ช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่ง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์จะมุ่งดำเนินงานใน 5 เป้าหมายคือ พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อมุ่งสู่ชุมชนแห่งความสุข สร้างเสริมและกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ประสานความร่วมมือทุกภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลไกและระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทางของหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)  

ยก \"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา\" ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

การพัฒนาจะก่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3 จังหวัด ภาคีทุกภาคส่วนยังได้รับการพัฒนายกระดับโดยใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (Community Based Tourism : CBT)  เกิดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ความหลากหลายของชาติพันธุ์และความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรม ให้เป็นจุดขายของการท่องเที่ยว เกิดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการท่องเที่ยว มีองค์กรกลางเข้ามาทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคีเพื่อแก้ไขปัญหา เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ผ่านการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวและนโยบายการพัฒนาต่างๆ ทำให้การพัฒนาของภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง เกิดชุมชนต้นแบบในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายผลักดันให้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้รับ มาตรฐานการท่องเที่ยวในระดับสากล เช่น เมืองสร้างสรรค์ และ Green Destination TOP-100 เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ

 

  • อพท. หน่วยประสานดำเนินงาน

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุน กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะพัฒนาและยกระดับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบแห่งนี้ให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และต้องสอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวและแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ นี้จะทำให้การพัฒนาของภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ มีความชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดำเนินงานรวมกว่า 200 โครงการผ่านหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

ยก \"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา\" ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถี เขา-โหนด-นา-เล ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

 

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ อพท. จะดำเนินการสร้างการรับรู้และส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (Kick off) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 24 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 57 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 22 แห่ง ให้มีความพร้อมและมีคุณภาพและมีขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) รวมถึงส่งเสริมแนวทางการท่องเที่ยวในวิถีใหม่ พัฒนามาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว และการบริหารจัดการให้สามารถผ่านการรับรองตามมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ตามนโยบายการท่องเที่ยวสีขาวของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่มุ่งเสริมสร้างการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ ส่งเสริมขับเคลื่อนการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

  • พัฒนา 5 เส้นทางโกยรายได้ 4 หมื่นล้าน 

นอกจากนั้น อพท.ยังวางแผนนำศักยภาพของพื้นที่ นำมาพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว (Routing) ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จำนวน 5 เส้นทาง เพื่อสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของแผนการขับเคลื่อน “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนดนาเล เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด และเส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก  

ยก \"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา\" ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

มีการประมาณการว่าจากการพัฒนาตามแผนงานระยะ 5 ปี จะส่งผลให้ทั้ง 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช มีจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าพื้นที่ราวปีละ 7 - 8 ล้านคน สร้างรายได้ปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวรวม 3 จังหวัดราว 6 ล้านคน มีรายได้ราว 3 หมื่นล้านบาท