“วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์” ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ส่งเสริมสังคมของฟิลิปส์ เน้นการเสริมสร้างความรู้อย่างยั่งยืน ผ่านผู้เชี่ยวชาญจริง ซึ่งล่าสุด ฟิลิปส์ ได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ “CMEx Lifelong Learning Center” ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ
โดยร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์ที่ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป และเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาค พร้อมทั้งยังเตรียมรองรับแพทย์จากในกลุ่มประเทศ CLMV
“เราต้องการให้เกิด growth mindset ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เราไม่คิดว่าความรู้ทางการแพทย์เป็นเฉพาะของแพทย์ แต่คนทั่วไปต้องเข้าถึงได้ เรียนรู้ได้ เราก็มีการส่งต่อ เช่น การจัดราย แต่การฝึกทักษะ ยังมีน้อย จึงมีการส่งเสริม และจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้น” รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง อรินทยา พรหมินธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
สิ่งที่ทางศูนย์ฯพยายามพัฒนาหลักสูตรขึ้น เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนด้วยว่า อยากรู้เรื่องอะไร เช่น การเรียนรู้การรักษาโรคเรื้อรัง การออกกำลังกายให้เหมาะสม ออฟฟิศซินโดรม การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ขณะเดียวกันได้พยายาม เผยแพร่องค์ความรู้หลายช่องทาง การตรวจ ดู คลำ เคาะ ฟัง ไถ ตอนนี้ไม่เพียงพอ การอัลตร้าซาวด์ ทำยังไงให้ถูกต้อง ช่วงโควิด จึงมีการจัดเวิร์คช้อป อัลตร้าซาวด์คอร์ส ซึ่งทางฟิลิปส์ได้มอบเครื่องมือสนับสนุน เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์แบบพกพา Philips Lumify
ซีอีโอฟิลิปส์ กล่าวอีกว่า หลักการในการให้ความช่วยเหลือของฟิลิปส์ พิจารณาจากโครงการที่ดี สอดคล้องกับเป้าหมายของฟิลิปส์ที่ต้องการสนับสนุนปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น เพราะฟิลิปส์เป็นบริษัทด้านเฮลท์แคร์อยู่แล้ว และหากมีโครงการอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทางฟิลิปส์ก็พร้อมให้การสนับสนุน ยิ่งถ้าเป็นศูนย์ทางการแพทย์จะดีมาก
สำหรับการฝึกอบรมของศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตเฟสแรกได้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว โดยมุ่งเน้นการดูแลและป้องกันเกี่ยวกับโรคหัวใจ เนื่องจากปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึง 12% ในขณะที่รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 17.9 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 32% จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565