บางคนอาจพาความโกรธกลับไปที่บ้านจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ยิ่งในยุคนี้ที่การเจอกันน้อยลง การสื่อสารก็เกิดความผิดพลาดได้ง่าย คุยกันแบบไม่เห็นหน้าคาดตา เลยยิ่งพาอารมณ์เสียกันไปใหญ่
“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป กล่าวว่า การตกอยู่ในสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมก่อให้เกิดผลเสียในวงกว้างทั้งสุขภาพกายใจและสุขภาพใจ จนอาจลามไปก่อให้เกิดโรคต่างๆ จากความเครียดได้อีก
วันนี้มีข้อเสนอเล็กๆ น้อยๆ ในการจัดการกับอาการหัวร้อน มาฝาก
- เรียนรู้ที่จะเข้าใจในอารมณ์ของตนเอง : เราทุกคนมีสิทธิที่จะโกรธหรือไม่พอใจได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะเอาอารมณ์ของเราไปทำร้ายเพื่อนร่วมงานหรือคนอื่นๆ ให้เจ็บช้ำน้ำใจ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจตัวเองว่าอะไรทำให้โกรธ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาในจุดนั้นๆ ให้ถูกต้องและถูกวิธี ไม่ใช่โกรธแล้วพาลไปเสียทุกเรื่อง เมื่อแก้ปัญหาได้เเล้วก็ควรดึงอารมณ์กลับมาให้ได้เหมือนเดิมอย่าขุ่นเคืองใจต่อไป
- คิดล่วงหน้าว่าจะจัดการกับความโกรธอย่างไร : อาจฟังดูแปลกๆ แต่ใช้ได้จริง เพราะการคิดล่วงหน้าจะทำให้มีสติ ไม่ปะทะโดยตรงกับสิ่งที่มากระตุ้นอารมณ์โกรธของเรา เมื่อเตรียมตัวมาดีการโต้ตอบก็จะช้าลง ไม่ตีความไปเองล่วงหน้า สามารถปล่อยวางสิ่งที่ทำให้หงุดหงิดได้มากขึ้น
- ปลดปล่อยความโกรธ : การเก็บความโกรธไว้คงไม่ใช่เรื่องดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ไปปลดปล่อยโดยการทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น แต่ให้ปลดปล่อยด้วยการหายใจลึกๆ เขียนความโกรธลงบนกระดาษ แล้วนำมานั่งพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
- สื่อสารอย่างเหมาะสม : ไม่ควรตอบกลับในขณะที่ยังมีอารมณ์โกรธอยู่ การทิ้งระยะ หนีออกสถานการณ์นั้นมาก่อน ช่วยให้เราพอมีเวลาในการคิดไตร่ตรองได้มากขึ้น เมื่อสติมา ปัญญาก็เกิด การแก้ปัญหาจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- หาความสุขให้ชีวิต : ต้องเข้าใจว่างานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต ช่างมันบ้างก็ได้ บางอย่างหรือบางเรื่อง เปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ก็หันกลับมาเปลี่ยนตัวเราเอง หากิจกรรมเติมความสุขให้ชีวิตด้วยการทำสิ่งที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย ไปดูหนัง ทานข้าวกับครอบครัว เป็นต้น เมื่อจิตใจผุดผ่อง สมองก็แจ่มใส่ ร่างกายก็แข็งแรง มันเชื่อมโยงกันไปหมด
ลองดูนะ เพียงแค่มีสติเท่าทันตัวเองเท่านั้น ทุกอย่างก็แก้ไขได้
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565