นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นประธาน“พิธีปิดโครงการแถลงผลสำเร็จโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ประจำปี 2565 พร้อมมอบโล่รางวัลองค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ระดับยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งได้รับรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมี นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เป็นตัวแทนรับมอบฯ พร้อมทั้งกล่าวแสดงเจตนารมณ์การขับเคลื่อนองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน และกำหนดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตั้งแต่ส่งเสริมเกษตรกรให้มีการจัดหาวัตถุดิบที่ไม่ได้มาจากแหล่งตัดไม้ทำลายป่า พร้อมทั้งส่งมอบและสื่อสารนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนแก่คู่ค้าธุรกิจ รวมทั้งการประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ESG (Environmental Social Governance) ของคู่ค้าธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
ซีพีเอฟได้รับการประเมินจากอบก. ตามดัชนีธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน” (Low Carbon and Sustainable Business Index: LCSi) เพื่อร่วมการจัดการก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินการบรรเทาผลกระทบ เป็นพื้นฐานสำหรับธุรกิจคาร์บอนต่ำ ตลอดจนแนวทางการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ซีพีเอฟ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีส่วนร่วมผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาในระดับโลก ด้วยความพร้อมในการผลักดันและขับเคลื่อนในการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งองค์กร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสนับสนุน Carbon Neutral ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในปี 2030 ขณะเดียวกันเราตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2050
เรามีการทำงานและศึกษาในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันธุรกิจโดยการนำนวัตกรรมมาใช้ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน และการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเราส่งเสริมและขยายความร่วมมือไปในระดับซัพพลาย เชนด้วย
ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการมูลสัตว์และน้ำเสีย และการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพและแสงอาทิตย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขึ้นทะเบียนโครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ 61,820 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อีกทั้งได้รับใบประกาศเกียรติคุณจาก อบก. ภายใต้โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) ประเภทโครงการด้านป่าไม้และการเกษตร จากโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธงและพื้นที่สีเขียวในฟาร์มและโรงงาน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดและดูดซับได้ทั้งหมด 22,255 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด โดยในปี 2564 มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนคิดเป็น 27% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และฉลากลดโลกร้อนมากกว่า 790 รายการ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำมากกว่า 1.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะเดียวกัน ได้ประกาศยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 % (CPF COAL FREE 2022) สำหรับกิจการในประเทศไทย โดยหันมาใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล ทดแทนถ่านหิน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ซึ่งบริษัทฯ ประกาศเป็นแผนปฏิบัติการในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2573) ทำให้สามารถสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้ครบทั้ง 17 เป้าหมาย ส่งเสริมการลงมือทำในระดับของพนักงาน คู่ค้า สู่องค์กรคาร์บอนต่ำและยั่งยืน สอดรับกับทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ อบก.ได้จัดทำตัวชี้วัดธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business Index: LCSi) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยปีนี้ ซีพีเอฟได้รับรางวัลยอดเยี่ยม จากการประเมินข้อมูลที่เปิดเผยในรายงานความยั่งยืนของบริษัทฯย้อนหลัง 3 ปี และสัมภาษณ์ข้อมูลของบริษัท ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม และมิติด้านเศรษฐกิจ