สงกรานต์ 2566 คํากล่าวขอขมาผู้ใหญ่ วันสงกรานต์

05 เม.ย. 2566 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 07:17 น.

สงกรานต์ 2566 ประเพณีไทยที่สืบทอดอย่างยาวนาน มีทั้งความรื่นเริงสนุกสนาน และเป็นโอกาสดี ในการแสดงความเคารพ และขอขมาต่อผู้ใหญ่ พ่อแม่ รวมขั้นตอน และคํากล่าวขอขมาผู้ใหญ่ วันสงกรานต์

สงกรานต์ 2566 ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน 2566 ในแต่ละวัน มีความหมาย และความสำคัญที่แตกต่างกัน โดย วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวัน"มหาสงกรานต์" หรือ วันเริ่มต้นปีใหม่ มาตั้งแต่สมัยโบราณ กระทั่ง พ.ศ. 2483 ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ส่วนวันที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันกลาง หรือวันเนา และวันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือวันเถลิงศก 

กิจกรรมที่ทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

  • ทำบุญตักบาตร
  • ทำบุญอัฐิ
  • การสรงน้ำพระ
  • การรดน้ำขอพร และขอขมาผู้ใหญ่
  • เล่นสาดน้ำคลายร้อนกัน

สงกรานต์ 2566

ที่มาการรดน้ำดำหัว และขอขมาผู้ใหญ่ ในวันสงกรานต์

การรดน้ำดำหัว หรือการรดน้ำขอพร และขอขมาผู้ใหญ่ เนื่องในวันสงกรานต์ 2566 ถือเป็นประเพณีแห่งการแสดงความเคารพนบน้อมต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ของผู้น้อย และขอขมาลาโทษที่เคยล่วงเกินผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองตลอดไป โดยนิยมกระทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เพียงวันเดียวหรือวันเถลิงศก

คำว่า "รดน้ำดำหัว"  เกิดจากนำเอาคำว่า "รดน้ำ" ของภาษาไทยไปต่อกับคำว่า "ดำหัว" ของภาษาล้านนา สาเหตุเพราะทั้งพิธีรดน้ำภาคอื่น กับดำหัวล้านนาต่างก็อยู่ในช่วงเวลาและธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน  จึงทำให้เกิดการสับสนกันในแง่ภาษาและวิธีปฏิบัติมาโดยตลอด

สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการ รดน้ำดำหัว และขอขมาผู้ใหญ่ ในวันสงกรานต์

  • น้ำอบไทย น้ำหอม หรือน้ำส้มป่อย ผสมกับน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสม ให้มีกลิ่นหอม
  • ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้หอมอื่นๆ ที่เป็นมงคล
  • ขันเงิน หรือขันทองเหลืองใบใหญ่ สำหรับใส่น้ำ และใบเล็กสำหรับตักน้ำ
  • พานข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนแพ (สำหรับขอขมา)
  • ผ้าตัดเสื้อสวยๆ เสื้อผ้าใหม่ ผ้าห่มผืนใหม่ หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ สำหรับมอบให้กับผู้ใหญ่

วิธีการรดน้ำดำหัว

รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ทั่วไป  เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ทรงคุณวุฒิ ในปัจจุบันนิยมปรับให้ง่ายขึ้นด้วยการรดที่มือ แล้วกล่าวขอขมา และขอพร หรือยึดพิธีดั้งเดิมโดยผู้น้อยจะอาบน้ำสระผมให้กับผู้ใหญ่ตามประเพณีเก่าแก่ หลังจากนั้นผู้ใหญ่ก็จะนำน้ำมาประพรมให้ผู้น้อย หากมีเรื่องที่ผู้น้อยขอขมา ผู้ใหญ่ก็จะกล่าวยกโทษให้ อโหสิกรรมให้ พร้อมกับกล่าวอวยพรในสิ่งดีๆ เป็นอันเสร็จพิธี

ซึ่งเป็นการประยุกต์ จากประเพณีล้านนา ที่เรียกว่า "สักการะสระเกล้าดำหัว" เป็นการจัดเตรียมเครื่องสักการะ(ของไหว้) และน้ำส้มป่อยไปสักการะผู้ใหญ่ เช่น พระเถระ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงวัยวุฒิ ตลอดจนถึงผู้มีอุปการะคุณ โดยจะเริ่มทำกันในวันขึ้นปีใหม่ คือวันพญาวัน(เถลิงศก) เพื่อขอขมาในสิ่งที่เคยล่วงเกิน และแสดงความเคารพ เมื่อทำการขอขมา และให้พรแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะนำน้ำส้มป่อยนั้นลูบหัวตัวเอง เสมือนเป็นการรับคำขอขมา และล้างความขุนเคืองที่ผ่านมาออกไป

รดน้ำ ดำหัว

รดน้ำดำหัวตัวเอง คือ การเสกน้ำสมป่อยด้วยคำที่เป็นสิริมงคล เช่น “สัพพะทุกขะวินาสสันติ สัพพะภะยะ วินาสสันติ สัพพะโรคะวินาสสันติ” (หมายถึง ขอให้ความทุกข์ ภัยอันตราย และความเจ็บป่วยทั้งหลายจงหมดสิ้นไป) แล้วใช้นำส้มป่อยลูบศรีษะ เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป สำหรับล้านนาจะเรียกว่า "สระเกล้าดำหัว" เป็นการสระผมตนเอง และครอบครัวด้วยน้ำส้มป่อยตามพิธี ในวันสิ้นปีคือวันสังขานต์ล่อง(มหาสงกรานต์) เพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้หายไปกับปีเก่า โดยใช้ “น้ำส้มป่อย” คือน้ำแช่ฝักส้มป่อย ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นน้ำที่ช่วยชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้

การล้างเท้าขอขมา 

การขอขมาอย่างเป็นทางการ ในวันสงกรานต์ ลูกหลานในปัจจุบัน อาจทำพิธีขอขมาพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรัก ด้วยการล้างเท้าให้ท่าน พร้อมการกล่าวขอขมา อาจมีดอกไม้หรือพวงมาลัย และธูปเทียนแพด้วยก็ได้

คํากล่าวขอขมาผู้ใหญ่ วันสงกรานต์

คำกล่าวขอขมาอย่างสั้น

หากลูกหลาน(ระบุชื่อ-นามสกุล) ได้ประมาทพลาดพลั้งล่วงเกิน ด้วยทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เนื่องในวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทยนี้ ขอกราบขมากรรมต่อทัน และขอให้ท่านโปรดยกโทษอโหสิกรรมให้แก่ลูกหลานด้วย

คำกล่าวขอขมาอย่างยาว

ตั้งนะโม 3จบ 

โย โทโส โมหจิตเตนะ มาตาปิตูสุ ปกโต ขมตุ โน
กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง อโสสิกัมมัง สัพพะปาปัง
วินัสสันตุ ฯ (หรือไม่กล่าวบาลี เอาแต่ภาษาไทยก็ได้)
แม่และพ่อทั้งสอง วันนี้ลูก ขอกราบขอบพระคุณ แม่และพ่อทั้งสองอย่างสูง ที่ให้ลูกได้เกิดมา ที่เลียงดูลูกมา ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ที่ให้ชีวิตแก่ลูกอันเป็นของมีค่า ที่สุดกว่าสิ่งใด 

วันนี้ลูก ขอกราบขอบพระคุณ แม่และพ่อทั้งสองอย่างสูง กรรมใดๆ ที่ลูกได้ประมาทพลาดพลั้ง ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี 
ทำไปด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี 
ทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ทั้งเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี
บ้างครั้งทำให้พ่อและแม่ ต้องทุกข์ใจ ช้ำใจ ที่ลูก ระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี วันนี้ลูกทุกคน ขอกราบขอขมาแม่ และพ่อทั้งสองอย่างสูง 

ขอให้แม่และพ่อทั้งสอง ผู้ประเสริฐของลูก จงยกโทษ ได้โปรดอโหสิกรรมให้แก่ลูกด้วย 

ด้วยอำนาจสิงศักดิสิทธิ์ทั้งหลาย มีอำนาจของพระรัตนตรัยเป็นต้น และอำนาจคุณงามความดีทุกอย่าง ที่ลูกได้ทำมาแล้ว ขอจงมารวมกัน ดลบันดาลให้ แม่และพ่อทั้งสอง จงมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ขอให้มีอายุยืนยาวนาน อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้ลูกได้ตอบแทนบุญคุณตราบนานเท่านานด้วยเถิด

หลังจากนั้น พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่จะกล่าวคำ อโหสิกรรมให้แก่ลูกหลาน ถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธีขอขมากรรม
 

ที่มา : สถาบันศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ,สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และล้านนาสร้างสรรค์ ,พระมหาวสันต์ ญาณทีโป