“สงกรานต์พระประแดง” ถือเป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลสำคัญ และนับเป็นประเพณีสำหรับชาวมอญ หรือชาวรามัญย่านพระประแดงที่จัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยการจัดงานจะจัดขึ้นภายหลังผ่านพร้นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว ซึ่งในการจัดงานปี 2566 นี้ ทางจังหวัดสมุทรปราการ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่
โดยทางจังหวัดเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมเข้ามาชมงาน และแนะนำให้แต่งไทย ใส่เสื้อลายดอก หรือแต่งชุดหนุ่มลอยชาย-สาวรามัญ มาเล่นน้ำสงกรานต์พระประแดง
วันงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง 2566
งานสงกรานต์พระประแดง เริ่มกี่โมง
สถานที่จัดงานสงกรานต์พระประแดง
ไฮไลท์การจัดงานสงกรานต์พระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกันหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่จัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีของสงกรานต์พระประแดง ซึ่งกิจกรรมภายในงาน มีทั้งการละเล่นพื้นเมืองของชาวมอญที่หาชมได้ยาก การจัดขบวนแห่ต่าง ๆ การประกวดนางสงกรานต์ รวมทั้งงานออกร้านจำหน่ายสินค้า และอาหารพื้นบ้านอร่อย ๆ มากมาย มีรายละเอียด ดังนี้
วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566
งานเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป โดยมีการประกวดนางสงกรานต์พระประแดง และหนุ่มลอยชาย ประจำปี 2566 ณ เวทีประกวดหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง
วันที่ 21-23 เมษายน 2566
งานเริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 – 24.00 น. ชมการละเล่นสะบ้ารามัญตามหมู่บ้านต่าง ๆ พร้อมชมการแสดงมากมายเพื่อสืบสานประเพณี ทั้งการแสดงทะแยมอญ การแสดงแสงสี ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า การแสดงดนตรีไทย จากศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองพระประแดง และชมการกวนกาละแมของดีเมืองพระประแดงด้วย
วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2566
งานเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. ไฮไลท์สำคัญมีพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผาชาติที่สวยงามตระการตา ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองพระประแดง
พร้อมชมพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ชมการละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ) ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และหมู่บ้านรามัญ การแสดงทะแยมอญ การกวนกาละแมของดีเมืองพระประแดง
ประวัติสงกรานต์พระประแดง
งานสงกรานต์พระประแดง ถือเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวรามัญ เดิมเรียกว่า สงกรานต์ปากลัด เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรมซึ่งสืบทอดกันมา โดยการจัดงานสงกรานต์พระประแดงจะช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ (วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี) ประมาณหนึ่งสัปดาห์
ถือเป็นวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือ “ชาวไทยรามัญ” ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองพระประแดง โดยมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนอกจากการทำบุญไหว้พระ และรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่แล้ว ยังมีการละเล่นพื้นบ้านของชาวมอญ เช่น การเล่นสะบ้า การร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งเต็มไปด้วยความสนุกคึกคัก และหาชมได้ยากในยุคปัจจุบัน รวมทั้งในช่วงท้ายยังมีพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา อีกด้วย