วันมาฆบูชา 2567 การเวียนเทียน ประวัติและบทสวดมนต์

23 ก.พ. 2567 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2567 | 17:11 น.

การเวียนเทียนในวัน "มาฆบูชา 2567 " ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ ชาวพุทธถือว่า การเวียนเทียนเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ เพื่อแสดงความบูชาอย่างสูงสุดต่อพระรัตนตรัย

 

วันมาฆบูชา ในปี 2567 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ ชาวพุทธตั้งใจไปตักบาตรทำบุญกันในช่วงเช้า จากนั้นช่วงเย็นถึงหัวค่ำก็พร้อมใจกันไป เวียนเทียน ซึ่งการเวียนเทียนนั้น นับเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ไทยได้รับคตินิยมมาจากประเทศอินเดีย มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ยุคทวารวดีในลักษณะของฐานประทักษิณ คือ การเดินเวียนขวา รอบสิ่งหรือบุคคล เช่น พระพุทธรูป หรือรอบสถานที่ เช่นปูชนียสถานสำคัญ อุโบสถ วิหาร ที่เคารพ เพื่อแสดงความบูชาต่อพระรัตนตรัยและให้เกิดสิริมงคล กล่าวได้ว่า การเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนานั้นมีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวารวดี จนถึงปัจจุบัน

ประวัติและความสำคัญของวันมาฆบูชา

ก่อนอื่นเรามารู้จัก "ประวัติ" และ "ความสำคัญ" ของวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันนี้เมื่อครั้งสมัยพุทธกาลได้เกิดเหตุการณ์พิเศษ 4 ประการพร้อมกันในวันเดียว เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" ดังนี้คือ

  1. เป็นวันที่ พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์
  2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  3. พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
  4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์

วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

โอวาทปาฏิโมกข์คืออะไร

โอวาทปาฏิโมกข์ ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ เรียกว่าเป็น "หัวใจของพระพุทธศาสนา" ประกอบด้วย

  • การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
  • การบำเพ็ญแต่ความดี
  • การทำจิตของตนให้ผ่องใส

วันมาฆบูชา 2567 การเวียนเทียน ประวัติและบทสวดมนต์

ทำไมต้องเวียนเทียน

การเวียนเทียน เป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในวันสำคัญต่างๆทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา โดยใช้ธูป เทียน และดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชา เดินเวียนรอบอุโบสถ 3 รอบ โดยทำการเวียนขวา เป็นการแสดงออกและแสดงความเคารพอย่างสูงสุด

สิ่งที่ต้องใช้

ดอกไม้ เช่น ดอกบัว 1 คู่ ธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม (บางคนใส่เทียนมาในโคม เพื่อป้องกันความร้อนของน้ำตาเทียนหยดใส่มือ)

ช่วงเวลาการเวียนเทียน

การเวียนเทียนนิยมทำตอนช่วงเย็นถึงหัวค่ำ ประมาณ 16.00 - 20.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย แดดไม่ร้อนจนเกินไป และเป็นช่วงเวลาที่แสงเทียนส่องสว่างไสว ไม่ดับจากลมพัด อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันผู้คนก็เลือกไปเวียนเทียนยังวัดสำคัญได้ทุกช่วงเวลาที่สะดวก ตามข้อจำกัดของเวลาการทำงานของแต่ละคน

ก่อนการเวียนเทียน

ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ก่อนเริ่มการเวียนเทียน ให้เดินไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานในโบสถ์ แล้วจึงออกมาเริ่มต้นการเดินเวียนเทียนนับจากด้านหน้าโบสถ์ จากนั้นเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือ 3 รอบ ขณะเดิน ให้สวดมนต์ไปด้วยเพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย

บทสวดมนต์ ขณะเวียนเทียน

รอบที่ 1 ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวดบทอิติปิโส

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุขโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวาติ

รอบที่ 2 ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยสวดบทสวากขาโต

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ

รอบที่ 3 ให้ระลึกถึงพระสังฆคุณ โดยสวดบทสุปะฏิปันโน

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย, อัญชะลีกะระณีโย, อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

เมื่อเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้หยุดที่พระพุทธรูปปางประธาน ณ จุดเริ่มต้นอีกครั้ง และขอพรอธิษฐาน วางธูปเทียน-ดอกไม้ ณ ที่จัดวาง เป็นอันเสร็จสิ้นการเวียนเทียน และอย่าลืมว่าในวันแห่งบุญกุศลนี้ เราชาวพุทธควรละเว้นความชั่ว กระทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ

อานิสงส์ของการเวียนเทียน

  • ช่วยให้ชีวิตสุกสว่าง : การเวียนเทียนเปรียบเหมือนการเพิ่มความสุกสว่างให้ชีวิตราบรื่นเจริญรุ่งเรือง 
  • ช่วยเตือนสติชาวพุทธ : การเวียนเทียนเป็นกุศโลบายเตือนสติให้ตระหนักถึง "วัฏสงสาร" หรือการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้ใช้ชีวิตไม่ประมาท
  • ได้อานิสงส์แรง-ได้บุญหนัก : การเวียนเทียนจะช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติมีจิตใจที่สะอาด สงบระหว่างที่เดินเวียนเทียน และยังได้บุญกุศลหนักอีกด้วย