วันที่ 12 สิงหาคม 2566 วันแม่แห่งชาติ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)ชวนชม "ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์" โดยในช่วงระหว่างเวลาประมาณ 23:00 น. ของคืนวันแม่ จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือที่มักเรียกกันว่า “ฝนดาวตกวันแม่” ศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับปีนี้คาดว่า“ฝนดาวตกวันแม่” จะมีอัตราการตกเฉลี่ยประมาณ 60 - 100 ดวงต่อชั่วโมง โดยเวลาประมาณ 23:00 - 03:00 น. ของคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์เนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) แนะนำสถานที่ชมให้อยู่ในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิท ส่วนวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝน สามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ทั่วประเทศ
สำหรับฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม - 24 สิงหาคมของทุกปี มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีผลกระทบต่อโลก
ส่วนใครที่อยากไปชมฝนดาวตกหรือปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ ดวงดาวต่างๆที่หอดูดาว สามารถแวะไปได้ที่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา สงขลา ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น. (กรณีฝนดาวตกสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์)