วันไหว้พระจันทร์ 29 ก.ย.66 เปิดประวัติความเป็นมา -ช่วงเวลาไหว้ที่นี่

12 ก.ย. 2566 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2566 | 08:01 น.

วันไหว้พระจันทร์ 2566 ตรงกับวันศุกร์ 29 ก.ย.นี้ เปิดประวัติความเป็นมา -ช่วงเวลาไหว้เริ่มตั้งแต่กี่โมง ของไหว้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์มีอะไรบ้าง

วันไหว้พระจันทร์ หรือ เทศกาลไหว้พระจันทร์ ใกล้จะมาถึงแล้ว โดยในปี 2566 วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 (ตามปฏิทินจันทรคติของชาวจีน) ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 สำหรับพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนที่จะไหว้พระจันทร์ก็เตรียมเช็คช่วงเวลา -ของไหว้ โดยจะมีอะไรบ้างนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมมานำเสนอดังนี้ 

การไหว้พระจันทร์ในไทยแต่เดิมมักไหว้ 3 เวลา 

  • เวลา 07:00 - 09:00 น. ช่วงเช้าไหว้ “เหล่าเอี๊ย เจ้าทั้งหลาย” “ตี่จู้” เจ้าที่ประจำบ้าน ไหว้ด้วยผลไม้หรือส้มอย่างเดียว 
  • เวลา 10:00 - 12:00 น.สายถึงเที่ยงไหว้บรรพบุรุษคล้ายสารทจีน แต่ใช้ขนมไหว้พระจันทร์แทนขนมเข่ง นิยมใช้ส้มโอไหว้ด้วย
  • เวลา 19:00 - 23:00 น.กลางคืนจึงไหว้พระจันทร์ด้วย “เปี้ยหรือปิ่ง” “กอหรือเกา” ผลไม้ ผ้าและเครื่องสำอาง บางบ้านอาจไหว้ด้วยหนังสือหรือเครื่องเขียนด้วย เพื่อขอพรให้เรียนเก่งเหมือนผู้ชายจีนในอดีต
     

ของไหว้พระจันทร์มีอะไรบ้าง

  • ผลไม้มงคลที่มีชื่อและความหมายที่ดี 4 อย่าง เช่น ทับทิม ส้ม สาลี่ และส้มโอ เป็นต้น 
  • ของแห้งที่เป็นอาหารเจ 4 อย่าง เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ วุ้นเส้น เป็นต้น
  • ขนมหวาน 4 อย่าง เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี๊ยะ สาคูแดง 4 ถ้วย ขนมโก๋สีขาว
  • ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น เครื่องสำอางค์ เครื่องประดับ น้ำหอม เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
  • กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง
  • โคมไฟ เพื่อให้มีชีวิตที่สว่างไสว
  • ต้นอ้อย 1 คู่ เพื่อใช้สำหรับทำเป็นซุ้ม

 

วันไหว้พระจันทร์ 29 ก.ย.66 เช็คของไหว้ เวลาไหว้ที่นี่

ส่วนใครที่อยากรู้ประวัติความเป็นมาของเทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือ วันไหว้พระจันทร์ วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ก็ได้รวบรวมตำนานความเป็นมาของวันไหว้พระจันทร์ 5 ตำนาน มานำเสนอดังนี้ 

 

1. ตำนานฉางเอ๋อร์เหินสู่ดวงจันทร์

เล่ากันว่าในยุคบรรพกาลมีดวงอาทิตย์ขึ้น 10 ดวง แผดเผาผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว มีชายหนุ่มผู้หนึ่งชื่อโฮ่วอี้ ใช้ธนูยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง โลกจึงเย็นลงและเหล่ามนุษย์ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข วีรกรรมของโฮ่วอี้ได้รับการแซ่ซ้องจากผู้คน พระแม่เจ้าซีหวางหมู่เทพมารดรได้ประทานยาวิเศษกินแล้วเป็นอมตะให้ 2 เม็ด แต่เขาไม่ประสงค์เช่นนั้นจึงไม่ได้กินและฝากยาไว้กับภรรยาชื่อฉางเอ๋อร์


แต่มีชายจิตใจชั่วร้ายหวังขโมยยาตอนที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บ้าน ใช้อุบายหลอกฉางเอ๋อร์ให้มอบยาวิเศษ แต่นางไม่ยอมและเมื่อเหตุการณ์คับขันนางจึงกินยา 2 เม็ดนั้นเสียเอง ทำให้ตัวเบาลอยละล่องสู่ท้องฟ้า ร่างของนางลอยสถิตอยู่ในดวงจันทร์ในวันนั้นซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 8 พอดี  ประชาชนต่างซาบซึ้งในความดีของนางจึงจัดพิธีเซ่นไหว้ฉางเอ๋อร์ในวัน 15 ค่ำ กลางเดือน 8 ทุกปีจนกลายเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์

2. ตำนานอู่กังในดวงจันทร์

อู๋กังเป็นคนเกียจคร้านไม่มีวิชาความรู้ แต่ฝันอยากจะเป็นเซียน พระเจ้าจึงลงโทษให้เขาไปโค่นต้นกุ้ยฮวาในดวงจันทร์ หากทำสำเร็จจะได้เป็นเซียน แต่ต้นกุ้ยฮวาสูงถึง 500 จ้างหรือกว่า 5,000 ฟุต แต่จนแล้วจนรอดอู๋กังก็ยังทำไม่สำเร็จจนทุกวันนี้

 

 

3. ตำนานกระต่ายหยก

ครั้งหนึ่งมีเทพสามองค์จำแลงเป็นคนชรามาขออาหารกับลิง หมาจิ้งจอก และกระต่าย แต่มีเพียงกระต่ายที่สงสารแต่ไม่มีอาหารจะให้ กระต่ายจึงกระโดดเข้ากองไฟสละเนื้อตัวเองเป็นอาหาร เทพทั้งสามชื่นชมในความดีของกระต่ายจึงพาไปอยู่กับฉางเอ๋อร์ มีหน้าที่ตำยาวิเศษ

 

4. ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ ในสมัยพระเจ้าถังเกาจู่

พระเจ้าถังเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ถัง แม่ทัพหลี่จิ้งยกทัพไปปราบชนเผ่าซุงหนูได้ชัยชนะกลับมาในวัน 15 ค่ำ กลางเดือน 8 ประชาชนต่างยินดีและต้อนรับด้วยการจัดพิธีไหว้พระจันทร์ มีพ่อค้าชาวทิเบตที่เป็นมิตรกับราชวงศ์ถังร่วมแสดงความยินดีด้วยการทำขนมไหว้พระจันทร์ถวายพระเจาถังเกาจู่ พระองค์แบ่งขนมให้ขุนนางและแม่ทัพนายกองกิน จนกลายเป็นประเพณีไหว้พระจันทร์ ตามเจตจาของขนมไหว้พระจันทร์อยู่ที่การเฉลิมฉลองและแบ่งปันความสุข

 

5. ตำนานเกี่ยวกับการนัดก่อการโค่นล้มราชวงศ์หยวนโดยจูหยวนจาง

ตำนานนี้อิงประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์หยวนที่สถาปนาโดยกุบไลข่านหรือชาวมองโกล ปลายราชวงศ์ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า จูหยวนจางเป็นหนึ่งขบวนการใต้ดินที่ต้องการโค่นล้มพวกมองโกล 

เขานัดหมายก่อการในวัน 15 ค่ำ กลางเดือน 8 โดยเอาประเพณีมอบขนมไหว้พระจันทร์ให้กันบังหน้าตบตาพวกมองโกล  โดยสอดจดหมายนัดแนะวันก่อการไปในขนมที่จงใจออกแบบให้เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ ในที่สุดสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนสำรวจ จูหยวนจางตั้งตนเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์หมิง ชาวจีนจึงยึดเอาวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันไหว้พระจันทร์สืบมา เพื่อรำลึกถึงการปลดแอกจากพวกมองโกล

 

เปิดประวัติเทศกาลไหว้พระจันทร์

ที่มาข้อมูล

  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร