นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้รับรายงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้รับข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้เสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนามรดกโลกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพจังหวัดเพชรบูรณ์ขึ้น
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการและวัฒนธรรมจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการจากสภาวัฒนธรรมจังหวัด หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพอย่างยั่งยืนและเตรียมความพร้อมในการพัฒนารองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพจังหวัดเพชรบูรณ์
โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการฝ่ายจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนา คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว คณะกรรมการฝ่ายวิชาการและคณะกรรมการฝ่ายติดตามโบราณวัตถุเมืองโบราณศรีเทพคืนสู่จังหวัดเพชรบูรณ์
โดยคณะกรรมการฯได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนและพัฒนามรดกโลกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางทั้งในไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก
ทำให้คนไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวชม สร้างงานสร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจชาติ เพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะด้านเฟสติวัลและท่องเที่ยวและสนับสนุน Thailand Creative Content Agency (THACCA) และ 1 ครอบครัว 1 Soft Power (One Family One Soft Power (OFOS) รวมทั้งการขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลกตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายวธ.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เบื้องต้นแผนการขับเคลื่อนฯของจังหวัดเพชรบูรณ์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.แผนเร่งด่วน
จัดทำป้ายบอกทางแบบถาวร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนห้องน้ำโดยเฉพาะห้องน้ำ Smart Toilet และอารยสถาปัตย์ จัดสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน เพื่อเป็นสถานที่แนะนำข้อมูล อำนวยความสะดวก จำหน่ายสินค้าและให้บริการด้านต่างๆแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งการนำเที่ยว ในเมืองโบราณศรีเทพและเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นๆที่น่าสนใจบริเวณโดยรอบ
การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านสาธารณูปโภค เช่น แหล่งน้ำ ไฟส่องสว่าง การบำบัดน้ำเสีย เพิ่มจำนวนบุคลากรนำเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ นักเล่าเรื่อง รวมทั้งการจัดการผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
2.แผนระยะกลาง
ได้แก่ จัดทำแอปพลิเคชันเอสเอ Directory การเพิ่มรถรางไฟฟ้า สร้างจุดจอดรถ EGV ชาร์จพลังงานรถไฟฟ้า จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงมรดกโลกศรีเทพกับเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งอื่นๆของประเทศไทยประกอบด้วยเมืองมรดกโลกอยุธยา เมืองมรดกโลกศรีเทพ เมืองมรดกโลกสุโขทัย รวมทั้งศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร อาจจะเชื่อมโยงไปยังเมืองมรดกโลกหลวงพระบางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน(สปป.)ลาว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การขุดสำรวจโบราณสถานที่สำคัญเพิ่มเติม เช่น เขาคลังสระแก้ว เขาคลังหน้า ฯลฯ และต้องการให้มีการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศรีเทพและกระบวนการนำโบราณวัตถุของศรีเทพที่ไปอยู่ตามที่ต่างๆทั้งที่อยู่กับชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์ในประเทศและที่อยู่ต่างประเทศ กลับคืนมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศรีเทพ
3.แผนระยะยาว
ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนโดยรอบเขาคลังนอกและพื้นที่ต่อเนื่องตำบลศรีเทพและตำบลนาสนุ่น อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และการยกระดับการบันทึกข้อมูลของแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มทำให้การจัดเก็บและดึงข้อมูลดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“หลังจากยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 มาจนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ร้านอาหาร โรงแรมและที่พักมีรายได้มากขึ้น ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ จึงได้ให้วธ.โดยกรมศิลปากรไปหารือในรายละเอียดและบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดเพชรบูรณ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายวัฒนธรรมและชุมชนเกี่ยวกับการจัดทำแผนการขับเคลื่อนและพัฒนามรดกโลกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ รวมทั้งจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว