นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (9 เมษายน 2567) มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร และอำเภอเมืองสงขลา โดยทะเลสาบสงขลาเป็น
1. ทะเลสาบน้ำกร่อยเพียงแห่งเดียวของประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่มีการตั้งถิ่นฐานรอบทะเลสาบที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลก
2. ถือเป็นต้นกำเนิดของวิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำกร่อย ความเชื่อ ประเพณี การตั้งถิ่นฐาน และเมืองต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ
3. ทะเลสาบสงขลาถือเป็นทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) กล่าวคือ เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยตามธรรมชาติที่อยู่บริเวณชายฝั่งและเปิดเชื่อมต่อสู่ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีความหลากหลายซับซ้อน และก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
นอกจากนั้น การตั้งถิ่นฐานหรือชุมชนหลายแห่งที่พบในบริเวณรอบทะเลสาบสงขลามีการปรับตัวให้เหมาะสมกับระบบนิเวศทะเลสาบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ส่งผลให้การตั้งถิ่นฐานนั้นพัฒนาจนกลายเป็นชุมชนและเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ นอกจากนี้ สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่จากชุมชนเมืองโบราณที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลาและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้รับการปกป้องคุ้มครองไว้อย่างดี เนื่องจากยังปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก
พื้นที่องค์ประกอบ ประกอบด้วย 4 พื้นที่ ดังนี้
โดยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ สามารถเข้าหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการนำเสนอ ดังนี้ เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นพื้นที่แสดงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เกณฑ์ข้อที่ 4 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีการพัฒนาด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม และเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมหรือการตั้งถิ่นฐานมนุษย์
ทั้งนี้ไม่มีแหล่งมรดกในบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน และมีการตั้งถิ่นฐานที่แสดงให่เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญกับอารยธรรมอื่น และเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
โดย ทส. เห็นว่า การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ เช่น กระต้นให้เกิดการอนุรักษ์และความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา และส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ