ก่อนจะไปเที่ยว วันไหลสงกรานต์พระประแดง 2567 เรามาทำความรู้จักที่มาของ “วันไหล” หรือ “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” กันเสียก่อน วันไหลถือเป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวเล คนไทยในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลางบางพื้นที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน โดยมักจัดหลังวันสงกรานต์ปกติ ราว 5-6 วัน โดยในสมัยโบราณนั้น เล่าขานกันว่า ชาวบ้านจะก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา ให้ครบ 84,000 กอง ซึ่งมีความหมายโดยนัยให้เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ในศาสนาพุทธ โดยแต่ละกองจะมีการปักธงทิวต่างๆ มีผ้าป่า และสมณบริขารสำหรับถวายพระ
จากนั้น พระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ และเลี้ยงแขกผู้ร่วมงานในเทศกาลตรุษสงกรานต์ และเมื่อเสร็จงาน ทางวัดจะนำทรายไปสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัด หรือถมที่ทางบริเวณวัด
สำหรับงานประเพณีวันไหลสงกรานต์พระประแดงในปี 2567 นี้ ทาง เทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ และวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ มีกำหนดจัดงานภายใต้ชื่อ "งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง อนุรักษ์ประเพณีชาวไทยรามัญ ประจำปี 2567" ระหว่างวันที่ 18-21 เมษายนนี้ ณ หน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง และบริเวณใกล้เคียงในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับ ไฮไลท์ของงานแต่ละวัน ที่ไม่ควรพลาด มีดังนี้
ในปีนี้ เทศบาลเมืองพระประแดง ร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมสืบสานประเพณีพื้นบ้านของชาวไทยรามัญ และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ประเพณีสงกรานต์พระประแดงให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้รู้จักมากขึ้น นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ สะบ้าทอย) และการสาธิตการกวนกะละแมของดีเมืองพระประแดง เป็นต้น
งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง เป็น 1 ในงานเทศกาลมหาสงกรานต์ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่เดิมเรียกกันว่า “งานสงกรานต์ปากลัด” เป็นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่ชาวไทยรามัญได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ตามประเพณีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะแต่งกายชุดไทยรามัญไปทำบุญตามวัดต่างๆ และมีการปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามบ้านเรือนต่างๆ
บรรยากาศแบบนี้ หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าใครได้มาร่วมงานวันไหลสงกรานต์พระประแดง อนุรักษ์ประเพณีชาวไทยรามัญ ประจำปี 2567 นี้ รับรองว่าได้ม่วนจอยกันแบบประทับใจไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก: เพจเทศบาลเมืองพระประแดง phrapradaeng municipality/ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ