ดวงจันทร์จะอยู่ใกล้คุณมากกว่าที่เคย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT เชิญชวนผู้ที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์และอวกาศชม "หินดวงจันทร์" จากยานฉางเอ๋อ 5 จัดแสดงครั้งแรกในไทยและนอกประเทศจีน เข้าชมฟรี ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ในงาน อว. แฟร์ วันที่ 22-28 ก.ค.67
พร้อมเปิดเหตุผล 10 ข้อต้องห้ามพลาดร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ในครั้งสำคัญนี้ โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT แจ้งผ่านเพจเฟซบุ๊ค ระบุว่า
NARIT ด้วยการสนับสนุนของ TCP Group ร่วมปลุกพลังแห่งการเรียนรู้ "หินดวงจันทร์" จากยานฉางเอ๋อ 5 มาอยู่ใกล้คนไทย สร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นับเป็นครั้งแรกในไทยที่จัดแสดงหินดวงจันทร์ที่เก็บกลับมายังโลกโดยจีนและยังเป็นครั้งแรกที่หินนี้ได้จัดแสดงนอกแผ่นดินจีนอีกด้วย
นอกจากจะได้ชมหินดวงจันทร์แล้ว NARIT ยก "อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของคนไทย" ที่จะไปดวงจันทร์กับภารกิจฉางเอ๋อ 7 มาจัดแสดง พร้อมโชว์เคสผลงานการใช้โจทย์ดาราศาสตร์ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านต่าง ๆ แบบจัดเต็มขั้นสุด
ยกทัพมาตั้งแต่เทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ เทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีคลื่นวิทยุและสัญญานดิจิทัล เทคโนโลยีอวกาศ วิทยาศาสตร์บรรยากาศ และเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง
1.โอกาสเดียวที่จะได้ชมหินดวงจันทร์ในประเทศไทย ณ ตอนนี้
2.หินดวงจันทร์ที่เก็บโดยจีนซึ่งเป็นประเทศที่สามต่อจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
3.การเก็บหินดวงจันทร์กลับมายังโลกไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มีเงินมหาศาลก็ไม่อาจทำได้
4.ครั้งแรกที่หินดวงจันทร์ชิ้นนี้ได้จัดแสดงนอกแผ่นดินจีน
5.หินดวงจันทร์ที่เก็บกลับมายังโลกได้สำเร็จในรอบกว่า 40 ปี
6.เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญส่วนหนึ่งของโลก อายุกว่า 2,000 ล้านปี
7.หินดวงจันทร์ที่นำไปสู่การค้นพบแร่ธาตุใหม่ "changesite-(Y)"
8.หินดวงจันทร์ที่นำไปสู่ความร่วมมือของนานาชาติอย่างแท้จริง
9.จุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เบิกทางสู่ก้าวแรกไทยไปดวงจันทร์
10.เตรียมความพร้อมก่อนไทยส่งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ไปกับยานฉางเอ๋อ 7 และภารกิจอื่น ๆ ในอนาคต
ภายในงานนี้จะได้พบกับความตื่นตาตื่นใจต่าง ๆ ได้ที่บูธนิทรรศการ NARIT บริเวณโซน F ภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ สามารถเข้าชมงานได้ ตั้งแต่เวลา 09:00-20:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ข้อมูล/ภาพ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ