วันออกพรรษา 2567 ตรงกับวันใด เปิดประวัติ-ความสำคัญ

16 ต.ค. 2567 | 04:44 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 04:52 น.

"วันออกพรรษา 2567" วันที่ 17 ตุลาคม เปิดประวัติ ความสำคัญ กิจกรรมประเพณีนิยม "ตักบาตรเทโว"พร้อมข้อปฏิบัติของชาวพุทธในวันออกพรรษา

วันออกพรรษา 2567 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาอีกหนึ่งวัน โดยในวันออกพรรษาปีนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 อย่างไรก็ตามวันนี้ไม่ได้เป็นวันหยุดราชการแต่อย่างใด 

 

ประวัติความสำคัญวันออกพรรษา 2567 

สำหรับความสำคัญของวันออกพรรษา ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้บอกเล่าไว้ว่า วันออกพรรษา เป็นวันที่พุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน ได้พร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล เช่นมีการตักบาตรเทโว หรือเรียกตักบาตรดาวดึงส์ เป็นต้น

 

วันออกพรรษา มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ 3 เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ ดังนั้นเมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (เพ็ญเดือน 11) ของทุกปี 

 

วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว หลังจากนั้นพระภิกษุสงฆ์มีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติ

อนึ่ง มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า " วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" มีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ"

 

แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี"

 

ประเพณีนิยมหลังวันออกพรรษา ตักบาตรเทโว

ประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา คือการ" ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น 15 เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 

ประเพณีนิยมหลังวันออกพรรษา ตักบาตรเทโว

สำหรับการทำบุญตักบาตรเทโว หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง โดยยึดถือว่าเป็นวันคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อก่อนพุทธศักดิ์ราช 80 ปี พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนา "พระสัตตปรณาภิธรรม" คือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา (ซึ่งทรงบังเกิดอยู่ในสวรรคชั้นดุสิต)

ครั้นครบกำหนดการทรงจำพรรษาครบ 3 เดือนพระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้วเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 โดย เสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของนับไดทองทิพย์อยู่เบื้องขวาบันไดเงินทิพย์อยู่เบื้องซ้ายและหัวบันไดทิพย์ที่เทวดาเนรมิตขึ้นทั้ง 3 พาด บนยอดเขาพระสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนครและสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิตรสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น "พุทธบูชานุสาวรีย์" เรียกว่า "อจลเจดีย์"

 

อนึ่งในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้นประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการตักบาตรเทโว ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับทำบุญตักบาตร รับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง บางวัดจึงเตรียมการในคฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเคลื่อนและมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูปใช้คนลากนำหน้าพระสงฆ์ พวกทายกทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตรเป็นการกระทำให้ใกล้กับความจริงเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า 

 

ส่วนอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตรในวันนั้น มีข้าว กับข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยนที่ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลำเจียกไว้หางยาวและข้าวต้มลูกโยนนี้มี ประวัติมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะตั้งใจอธิษฐานแล้วโยนไปให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีคนมากเข้าไปใส่บาตรไม่ได้


ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

  • นอกเหนือจากการตักบาตรเทโวแล้ว ยังมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติ โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้ 
  • ประเพณีตักบาตรเทโว (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน) 
  • ประเพณีพิธีทอดกฐิน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 กำหนด 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา)
  • ประเพณีพิธีทอดผ้าป่า (ไม่จำกัดกาล)
  • ประเพณีเทศน์มหาชาติ (นิยมทำกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ วันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือในเดือน 10)

 

ข้อปฏิบัติของชาวพุทธในช่วงวันออกพรรษา

  • ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ครอบครัว ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
  • ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร หรือจัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาที่วัด
  • ร่วม "ตักบาตรเทโว" ในวันพระใหญ่
  • ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติ ตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ประดับธงชาติ ธงธรรมจักรตามวัด และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
  • งดการเที่ยว ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์
     

ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล

ที่มาข้อมูล

  • สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ