มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” รอบสื่อมวลชน ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ก่อนกำหนดจัดการแสดงในระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - วันที่ 8 ธันวาคม 2567 นี้
สำหรับปี 2567 นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่ง เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
จึงร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้ คัดเลือกตอน “พระจักราวตาร” อันเป็นตอนที่แสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักราหรือพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระราม โอรสของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาเพื่อปราบฝ่ายอธรรม เปรียบประดุจพระราชวงศ์จักรีที่ผดุงความสุขความสงบให้กับพสกนิกรชาวไทยตลอดมา
“พระจักราวตาร” จับตอนตั้งแต่พระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ ขณะที่ประทับอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราชพร้อมพระลักษมีพระชายา ให้เสด็จลงมาปราบยุคเข็ญ
โดยการแสดงเริ่มจากพระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ ให้อวตารเป็นพระราม เทพพาหนะและ เทพอาวุธเป็นพระอนุชา พระลักษมีพระชายาเป็นนางสีดา ต้นเหตุหนึ่งแห่งการต่อสู้รบพุ่งกับฝ่ายอธรรม นั่นก็คือทศกัณฐ์และญาติวงศ์
จากนั้นได้ดำเนินเรื่องเป็นลำดับตั้งแต่พระรามครั้งเยาว์วัยได้ปราบกากนาสูร อสูรญาติของทศกัณฐ์
ผูกเรื่องตัดตอนตั้งแต่พระรามเสด็จไปยกศรที่นครมิถิลา ได้นางสีดาเป็นมเหสี จนรับสัตย์จากท้าวทศรถพระบิดาออกเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี
ขณะอยู่ในป่านางสำมนักขา ขนิษฐาของทศกัณฐ์ซึ่งมาพบพระรามและหลงรักแต่ไม่สมหวังจึงมาฟ้องและยุยงจนเกิดสงคราม
ทศกัณฐ์ใช้ให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองมาลวงล่อ พระรามออกติดตามกวางทอง ทศกัณฐ์แปลงเป็นพระสุธรรมฤษีลอบเข้ามาลักนางสีดาพาขึ้นราชรถ พบกับนกสดายุที่ขวางทาง จนในที่สุดทศกัณฐ์ได้พานางสีดาไปไว้ในอุทยานท้ายกรุงลงกา
พระราม พระลักษมณ์ ออกติดตามได้พลวานรทั้งฝ่ายเมืองขีดขินและเมืองชมพู แล้วยกทัพไปทำสงครามชิงนางสีดากลับคืน
ในตอนสุดท้ายของการแสดง สมมุติว่าพระรามได้แสดงกฤษฎาภินิหารบำราบทศกัณฐ์ได้แล้ว จึงเดินทางกลับกรุงอโยธยา และเฉลิมฉลองที่สามารถปราบฝ่ายอธรรมได้ราบคาบ สมดังเจตจำนงหมาย
พระนารายณ์หรือพระจักราเปรียบประดุจต้นราชวงศ์จักรีที่ปกครองบ้านเมืองให้มีความสงบสุขร่มเย็น ทรงเสียสละเพื่อผดุงชาติบ้านเมือง ดับยุคเข็ญ นำชาติไทยให้ก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากการแสดงที่วิจิตรงดงามที่แสดงโดยนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ จนมีฝีมือการร่ายรำอันงดงามถูกต้องตามจารีตแล้ว ผู้ชมจะได้รับฟังการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ รับชมความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต
พบกับความพิเศษของสุดยอดฉากการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ของพระจักราวตาร ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการแสดงโขนที่ยิ่งใหญ่บนเวที
นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ได้จัดการแสดงโขนเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนงในการแสดงโขน โดยสิ่งที่เป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินงานคือ พระราชดำรัสเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ว่า “ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน”
นับเป็นความโชคดีของคนไทยและประเทศไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการแสดงโขนอย่างเอาพระทัยใส่ทุกมิติ เป็นการธำรงนาฏศิลป์ อันทรงคุณค่าของชาติให้สืบทอดอยู่ อีกนานเท่านาน