“ก้องเกียรติ” วิเคราะห์ “ทรัมป์ - เฟด” เดินนโยบายพลาด ต้นเหตุสงครามการค้า มองประเทศทั่วโลกรับมือเล็งใช้นโยบายดอกเบี้ยตํ่า-อัดฉีดเงิน ด้านโบรกฯ แห่ปรับลดประมาณการกำไรบจ. “เอเซีย พลัส” คาดดัชนีหุ้นไทยปีนี้ 1612-1658 จุด
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ASP) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯขณะนี้ถือเป็นช่วงล่อแหลม และมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยถึง 1 ใน 3 หรือที่ประเมินกันประมาณ 34% สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะยาวตํ่ากว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted yield curve) ที่เกิดขึ้นกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีและอายุ 2 ปีเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี สาเหตุมาจากเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นช้าและผลจากสงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจการบริโภคของโลก และผลต่อต้นทุน จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจประเทศหลักหรือในยุโรป เช่นประเทศเยอรมนีก็ดีเริ่มติดลบ ดังนั้นหากสถานการณ์ยังดำเนินต่อเนื่อง 3-4 เดือน มีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ก้องเกียรติ โอภาสวงการ
อย่างไรก็ดีสถานการณ์ขณะนี้ถือว่ายังประคองไปได้และเชื่อว่าประเทศทั่วโลกจะเตรียมรับมือ ทั้งการใช้มาตรการอัดฉีดเงินหรือ QE สู่ระบบการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอุปสรรคที่ไม่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด
“สิ่งที่สะท้อนขณะนี้คือประธานาธิบดีทรัมป์ เริ่มร้อนตัวว่านอกเหนือจากปัจจัยอื่นแล้ว ตัวเองก็อาจเป็นต้นเหตุ จะเห็นว่าช่วงหลังประธานาธิบดีทรัมป์ ทวีต อยากจะเจรจากับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ความผิดพลาดส่วนหนึ่งยังเกิดจากการที่เฟดส่งสัญญาณผิดพลาด รีบขึ้นดอกเบี้ย (0.25% สู่ระดับ 2.25-2.50% ในเดือนธ.ค. 61) ทั้งๆที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นดี ก่อนที่เฟดจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา”
ด้านฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัสฯ ระบุว่ามีโอกาสที่จะปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ปีนี้ลงประมาณ 2.5% จากที่ประเมินไว้ 1.03 ล้านล้านบาท โดยกำไรที่ลดลงทุกๆ 1.0 หมื่นล้านบาททำให้ EPS ลดลงราว 1 บาท ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2562 จะลงมาอยู่ที่ราว 1612-1658 จุด
ทั้งนี้จากการรวบรวมบจ.ที่ประกาศงบไตรมาส 2/2562 ถึงวันที่ 15 สิงหาคมนี้ มีรายงานเข้ามาแล้วประมาณ 500 บริษัท คิดเป็น 92% ของ Market Cap. ทั้งตลาดทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 2.09 แสนล้านบาท และหากเปรียบเทียบเฉพาะที่ประกาศงบแล้วพบว่ากำไรสุทธิลดลงจากราว 19.2% qoq และลดลงจากไตรมาส 2/2561 ราว 17.7% yoy และเทียบเฉพาะ Real Sector ที่ประกาศงบแล้ว มีกำไรสุทธิ รวมกันราว 1.41 แสนล้านบาท ลดลงใกล้เคียงกันราว 23.8% ทั้ง qoq และ yoy
โดยคาดหลังรายงานกำไรสุทธิจะอยู่ที่ราว 2.2 แสนล้านบาท ตํ่ากว่าคาด ทำให้มีโอกาสเห็น Downside ของกำไร ปี 2562 ที่เดิมฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 103.32 บาทต่อหุ้น อันเนื่องจาก 1. การปรับประมาณการกำไรรายหุ้น ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการปรับลดประมาณการลง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มปิโตร-โรงกลั่น (PTTGC, IVL, IRPC และ BANPU) รวมถึงหุ้น SCC และ THAI ส่วนที่ปรับประมาณการขึ้น ได้แก่ ADVANC, INTUCH และ SCB เป็นต้น
2. แนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่า กล่าวคือ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ แข็งค่ามากกว่าสมมติฐาน ล่าสุดเงินบาทอยู่ที่ 30.86 บาท ตํ่าสุดในรอบ 5 ปี 11 เดือน และหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าราว 5.12% โดยเงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 31.5 บาทดอลลาร์ ตํ่ากว่าสมมติฐานที่ ASPS คาดปี 2562 อยู่ที่ 32 บาท และ 3. การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง คาดว่าจะคล้ายกับปี 2555 ที่ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุนการบริโภค ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่ในปีนี้ยังมีแนวโน้มที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงกับทำนิวไฮ เพราะปัจจุบันยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีนํ้าหนักมาก อีกทั้งเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ อาจจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าได้
อย่างไรก็ตาม คาดกรอบดัชนีหุ้นไทยช่วงนี้จะอยู่ที่ 1580-1670 จุด โดยยังคงคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปีนี้อยู่ที่ 1750 จุด ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรสุทธิในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่มีการประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับลดลง ซึ่งจะกระทบต่อกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้าที่ จะรับได้ผลกระทบเต็มปี ส่งผลให้มีการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในปี 2562 ด้วย
หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่39 ฉบับที่ 3,497 วันที่ 18-21 สิงหาคม 2562